แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่ารายจ่ายพิพาท มิใช่รายจ่ายเกี่ยวกับกิจการทำเหมืองแร่ของโจทก์ที่ตำบลบางริ้น ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524แต่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อขอประทานบัตรเหมืองแร่ใหม่ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ทำให้ได้มาซึ่งสิทธิประทานบัตรการทำเหมืองแร่เมื่อโจทก์ใช้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้ว ภายหลังเมื่อโจทก์ได้รับประทานบัตร โจทก์ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายจนบังเกิดเป็นทุนรอนของโจทก์ขึ้นมา อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ มิใช่รายจ่ายในการซ่อมแซมเหมืองบางริ้นให้คงสภาพเดิม จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ตามมาตรา 65 ตรี(5)แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์นำเอาค่าใช้จ่ายซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิมาหักเป็นรายจ่ายและไม่ยอมเสียภาษีอากรให้แก่จำเลยกลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เช่นนี้ ตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์แต่การที่โจทก์ให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยในการตรวจสอบภาษี โดยมอบอำนาจให้คนของโจทก์ไปให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยแทนโจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้โจทก์ แม้โจทก์จะอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางเพียงขอให้งดเบี้ยปรับศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจลดเบี้ยปรับให้ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับอื่นซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์และมีคำขอมาในคดีนี้ด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่8652/2/00696 ลงวันที่ 6 มกราคม 2531 ของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับท้องที่สรรพากรจังหวัดภูเก็ตและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือ ภ.ส.7เลขที่ 4/2531 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 ที่สั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งเบี้ยปรับเป็นเงิน 98,835.68 บาทโดยโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย หากศาลฟังว่าโจทก์ต้องชำระภาษีให้แก่จำเลยก็ขอให้งดเบี้ยปรับเพราะโจทก์ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วและพฤติการณ์ไม่มีเหตุอันควรงดเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8652/2/00696 และ 8652/2/00697ลงวันที่ 6 มกราคม 2531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 4/2531ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 ของจำเลยเฉพาะเงินค่าเบี้ยปรับเสียโดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ประเด็นวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า รายจ่ายจำนวน 2,052,582.47 บาท เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 มิใช่รายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523และรายจ่ายดังกล่าวจำนวน 1,310,913.10 บาท เป็นรายจ่ายในการซ่อมแซมเหมืองแร่บางริ้นให้อยู่ในสภาพเดิม มิใช่เป็นการต่อเติมเปลี่ยนแปลง หรือทำให้ดีขึ้น เป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองมิใช่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือไม่ ประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รายจ่ายจำนวน 2,052,582.47 บาทเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวจำนวน 1,130,913.10 บาท นั้น หาใช่รายจ่ายเกี่ยวกับกิจการทำเหมืองของโจทก์ที่ตำบลบางริ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 แต่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อขอประทานบัตรใหม่ เป็นรายจ่ายซึ่งทำให้ได้มาซึ่งสิทธิประทานบัตรการทำเหมืองแร่ซึ่งเมื่อโจทก์ใช้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้ว ภายหลังเมื่อโจทก์ได้รับประทานบัตรโจทก์ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายจนบังเกิดเป็นทุนรอนของโจทก์ขึ้นมา อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ มิใช่รายจ่ายในการซ่อมแซมเหมืองบางริ้นให้คงสภาพเดิม จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(5) โจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้
ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยต่อไปว่ามีเหตุควรงดเบี้ยปรับให้โจทก์หรือไม่ และศาลภาษีอากรกลางพิพากษาเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยพร้อมกันไปพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยนำสืบรับว่า ในชั้นตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่จำเลย โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายชวน ตันนุกิจ ไปให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารแทน ตามที่ถูกหมายเรียกทุกครั้ง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์นำเอาค่าใช้จ่ายซึ่งต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้นมาหักและไม่ยอมเสียภาษีอากรให้จำเลย กลับนำคดีมาฟ้องร้องหรืออุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามพฤติการณ์จึงยังไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้โจทก์ แต่เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยในการตรวจสอบภาษีครั้งนี้ โดยมอบอำนาจให้นายชวนไปให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยแทนโจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้โจทก์ได้เฉพาะหนี้ภาษีอากร ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่8652/2/00696 ลงวันที่ 6 มกราคม 2531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามหนังสือ ภ.ส.7 เลขที่ 4/2531ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 เท่านั้น ซึ่งแม้โจทก์จะอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางเพียงขอให้งดเบี้ยปรับ ศาลภาษีอากรกลางก็มีอำนาจลดเบี้ยปรับให้ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์แต่อย่างใดแต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนรวมตลอดถึงหนี้ภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8652/2/00697 ลงวันที่6 มกราคม 2531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือ ภ.ส.7 เลขที่ 4/2531ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 ของจำเลยเฉพาะเงินค่าเบี้ยปรับ โดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายทั้ง ๆ ที่โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือมีคำขอมาในคดีนี้ด้วยเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 17
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนที่ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดเบี้ยปรับให้โจทก์ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8652/2/00697 ลงวันที่6 มกราคม 2531 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือ ภ.ส.7 เลขที่ 4/2531ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง