แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2534 มาตรา 26
การพิจารณาว่างานซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ปรับแก่กรณี แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
ในสัญญามีข้อความระบุถึงชื่อสัญญาว่า “หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์” และมีข้อความในรายละเอียดกำหนดให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ตำราคณิตคิดเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จำนวนของแต่ละระดับชั้นเล่มละ 3,000 เล่ม เริ่มจำหน่ายเดือนมกราคม 2535 และคิดเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ที่พิมพ์ขึ้นแต่ละเล่ม เอกสารดังกล่าวมิได้มีการลงนามโจทก์ในฐานะผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่ม และกำหนดให้พิมพ์หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เพียงเล่มละ 3,000 เล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ตามมาตรา 13 (4) และ 14 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงข้างต้นจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือประกอบการเรียนการสอนชื่อแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 รวม 6 เล่ม ก่อนปี 2535 โจทก์จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2535 จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์ เพื่อนำไปพิมพ์จำหน่ายเพื่อการค้าของจำเลยทั้งสอง โดยมีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองพิมพ์ออกจำหน่ายแต่ละเล่มได้จำนวนเพียงเล่มละ 3,000 เล่ม เท่านั้น แต่สัญญาซื้อขายทำผิดแบบแห่งนิติกรรม จึงเป็นโมฆะ และมีผลใช้ได้เพียงเป็นหลักฐานอนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้สิทธิพิมพ์งานของโจทก์แต่ละเล่มออกจำหน่ายได้จำนวนเพียงเล่มละ 3,000 เล่ม เท่านั้น แต่โจทก์ทราบจากสำเนาเอกสารสำคัญแสดงว่า จำเลยทั้งสองพิมพ์เกินกว่าจำนวนเล่มละ 3,000 เล่มแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองยุติการพิมพ์หรือเผยแพร่งานวรรณกรรมของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 489,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองยุติการพิมพ์หรือเผยแพร่หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า การพิจารณาว่างานของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ปรับแก่กรณี แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย หนังสือของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยหนังสือดังกล่าววางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ จึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
ในสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์มีข้อความระบุถึงชื่อสัญญาว่า “หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์” และมีข้อความในรายละเอียดกำหนดให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ตำราคณิตคิดเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จำนวนของแต่ละระดับชั้นเล่มละ 3,000 เล่ม เริ่มจำหน่ายเดือนมกราคม 2535 และคิดเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ที่พิมพ์ขึ้นแต่ละเล่ม เอกสารดังกล่าวมิได้มีการลงนามโจทก์ในฐานะผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ก็มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่ม และกำหนดให้พิมพ์หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เพียงเล่มละ 3,000 เล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ตามมาตรา 13 (4) และ 14 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงนี้จึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 204,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ และกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.