แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีแต่ผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งสวมหมวกกันน็อก และกระโดดลงมาดึงท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าพร้อมกับกระชากเอาสร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ไป เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดโดยกระทันหัน ผู้เสียหายเป็นหญิงย่อมตกใจกลัวเป็นธรรมดา ทั้งยังมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายในช่วงระยะเวลาสั้นในขณะรถจักรยานที่ถีบอยู่ถูกดึงให้เสียหลักและหันกลับมามองเพราะถูกคนร้ายจับแขนซ้าย อีกทั้งผู้เสียหายยังมีบุตรอีกสองคนซ้อนท้ายรถจักรยานให้เป็นห่วงในความปลอดภัยด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะสามารถสังเกตเห็นคนร้ายได้โดยถนัดชัดเจน จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นพิจารณา ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานสามารถตรวจยึดได้วัตถุพยานจากจำเลยอันจะเป็นข้อพิสูจน์แสดงว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,339, 340 ตรี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 28,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 28,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าไม่มีการชิงทรัพย์เกิดขึ้นนั้น เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ถูกคนร้ายสองคนร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำไปในขณะถีบรถจักรยานพาบุตรสองคนกลับบ้าน แม้หลังเกิดเหตุเมื่อคนร้ายหลบหนีไปแล้ว ผู้เสียหายจะไม่ได้ไปแจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบทันที แต่ก็ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นข้อพิรุธส่อแสดงว่าผู้เสียหายได้สร้างเรื่องขึ้นโดยไม่เป็นความจริง เพราะขณะนั้นเป็นเวลาใกล้พลบค่ำแล้วผู้เสียหายต้องกลับบ้านและอยู่ดูแลบุตรทั้งสองคนซึ่งยังเล็กอยู่แต่โดยลำพังผู้เดียวและเมื่อเช้าวันรุ่งขึ้นผู้เสียหายก็ได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรีว่า ถูกคนร้ายชิงทรัพย์สร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำไปในวันเกิดเหตุ จึงฟังได้ว่าได้เกิดเหตุคนร้ายชิงทรัพย์ผู้เสียหายไปจริงตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ชิงทรัพย์ผู้เสียหายดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์มีแต่ผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งสวมหมวกกันน็อกและกระโดดลงมาดึงท้ายรถจักรยานของผู้เสียหาย ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าพร้อมกับกระชากเอาสร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ไป แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดโดยกระทันหัน ผู้เสียหายเป็นหญิงย่อมตกใจกลัวเป็นธรรมดาทั้งยังมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายในช่วงระยะเวลาสั้นในขณะรถจักรยานที่ถีบอยู่ถูกดึงให้เสียหลักและหันกลับมามองเพราะถูกคนร้ายจับแขนซ้าย นอกจากนั้นผู้เสียหายยังมีบุตรอีกสองคนซ้อนท้ายรถจักรยานให้เป็นห่วงในความปลอดภัยด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะสามารถสังเกตเห็นคนร้ายได้โดยถนัดชัดเจน ที่ผู้เสียหายอ้างว่าได้ยืนยันต่อเจ้าพนักงานตำรวจในวันรุ่งขึ้นที่ไปแจ้งความว่าคนร้ายที่เข้ามากระชากสร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำ มีรอยสักที่บริเวณคอ และภาพถ่ายจำเลยในทะเบียนประวัติอาชญากรที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้ดูเป็นภาพถ่ายของคนร้ายดังกล่าวนั้น แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ทราบถึงตัวคนร้ายและที่อยู่แล้วตั้งแต่วันนั้น แต่กลับไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการติดตามจับกุมจำเลย ทั้งที่หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยมิได้หลบหนีแต่อย่างใด และหากเป็นความจริงดังที่ผู้เสียหายยืนยันดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุที่ร้อยตำรวจเอกประดิษฐ์ วงศ์เสาร์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรีพยานโจทก์ ซึ่งได้สอบถามถึงลักษณะรูปพรรณคนร้ายจากผู้เสียหายในวันที่มาแจ้งความ จะต้องให้นายสู้รบ พันธุ์บุตร สายลับเจ้าพนักงานตำรวจช่วยสืบหาคนร้ายแต่อย่างใด แม้นายสู้รบจะเบิกความว่า วันเกิดเหตุเห็นจำเลยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าบ้านตนไปทางหน้าวัดกุดนกเปล้าซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ โดยคนขับรถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจชี้ให้เห็นโดยชัดว่าจำเลยเป็นคนร้าย จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นพิจารณา ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานสามารถตรวจยึดได้วัตถุพยานจากจำเลยอันจะเป็นข้อพิสูจน์แสดงว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน