แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายแล้ว จำเลยยังได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาท หากบังคับไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกัน การคิดทุนทรัพย์เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณในการกำหนดค่าทนายความจึงต้องคิดทั้งฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งตามตาราง 6 ค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 5
ที่จำเลยฎีกาว่าค่าทนายความมีจำนวนสูงเกินไปนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะได้ฎีกาในข้อที่ว่าค่าทนายความมิได้คำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นข้อยกเว้นของข้อห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168 มาแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความรวมถึงให้จำเลยฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองในการกำหนดค่าทนายความว่าสูงเกินไปขึ้นมาสู่การพิจารณาในชั้นนี้ได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลเท่ากับยอมให้มีการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสถาพที่เรียบร้อย ห้ามไม่ให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีกต่อไป กับให้จำเลยชำระค่าปรับในอัตราวันละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันฟ้อง รวมจำนวน 33,000 บาท และค่าปรับอีกวันละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลาเช่า 15 ปี หากไม่สามารถบังคับโจทก์จดทะเบียนสิทธิการเช่าได้ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 48,830,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1838, 109011, 109012, 109013, 109014, 109015 และ 109016 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย และห้ามมิให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป กับให้จำเลยชำระค่าปรับ 11,000 บาท และค่าปรับอีกวันละ 1,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าว ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในชั้นศาลชั้นต้น 200,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า ค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยใช้แทนในศาลชั้นต้นเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและสูงเกินไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายแล้ว จำเลยยังได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาท หากบังคับไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายแทน ซึ่งศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกัน การคิดทุนทรัพย์เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณในการกำหนดค่าทนายความจึงต้องคิดทั้งฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย และมิใช่ว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย การกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นคงต้องคำนวณจากทุนทรัพย์ในคดีฟ้องขับไล่ของโจทก์เพียงอย่างเดียวดังฎีกาของจำเลย โดยเฉพาะในส่วนของฟ้องแย้งที่จำเลยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 48,830,500 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของทุนทรัพย์ในคดีนี้ ซึ่งตามตาราง 6 ค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 5 ที่ศาลจะกำหนดค่าทนายความให้ได้แก่ผู้ชนะคดีในศาลชั้นต้นหากใช้ทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นฐานคำนวณในการกำหนดค่าทนายความเพียงอัตราร้อยละ 0.5 ก็มีจำนวนถึง 244,152.50 บาท แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 200,000 บาท จึงไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าค่าทนายความดังกล่าวมีจำนวนสูงเกินไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะได้ฎีกาในข้อที่ว่าค่าทนายความมิได้คำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นข้อยกเว้นของข้อห้ามที่กำหนดห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 มาแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความรวมถึงให้จำเลยฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองในการกำหนดค่าทนายความว่าสูงเกินไปขึ้นมาสู่การพิจารณาในชั้นนี้ได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลเท่ากับยอมให้มีการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติดังกล่าวได้ ทั้งที่จำเลยอาจยกประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ที่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาทิ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรดาหรือไม่ ขึ้นฎีกาได้อยู่แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมาเป็นฎีกาขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งคงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยเรื่องละ 200 บาท รวม 400 บาท แต่จำเลยเสียมา 4,000 บาท จึงชอบที่จะสั่งคืนให้แก่จำเลยเสียด้วย
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกิน 400 บาท ให้แก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ