แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาล โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 ผู้ลงนามในสัญญา และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 ผู้ลงนามขยายอายุสัญญา ทำสัญญาซื้อขายฉลากสินค้าประเภทนมเปรี้ยว ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องซื้อฉลากสินค้าจำนวน 57,600,000 ชิ้น ภายในกำหนดเวลา 7 ปี ปีละไม่น้อยกว่า 400,000 ชิ้น เป็นการทำสัญญาผูกพันซื้อสินค้าจากโจทก์ยาวนานต่อเนื่องถึง 7 ปี โดยไม่ใช้วิธีการพิเศษอันเป็นการไม่ดำเนินการตามข้อบังคับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างเอกชนอื่นกับจำเลยที่ 1 และทำให้ไม่มีการเสนอราคาแข่งขัน ทั้งจำนวนฉลากที่สั่งซื้อก็มากกว่าจำนวนสินค้านมเปรี้ยวที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายได้อยู่มาก ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทุจริตประสงค์อามิสสินจ้างในการทำสัญญา ย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐ ทั้งเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายไปเพื่อปฏิบัติตามสัญญาค่าจัดพิมพ์ฉลากไว้ล่วงหน้า ค่าขาดกำไร และค่าเสียหาย จำนวน 22,987,916.15 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,999,370.58 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,588,287 บาท นับถัดจากวันฟ้อง ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาลจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ทำสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มจากโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 57,600,000 ชิ้น โดยผู้ซื้อจะต้องสั่งซื้อเดือนและไม่น้อยกว่า 400,000 ชิ้น จริงอยู่ทรัพย์ที่ทำการซื้อขายกันเป็นเพียงวัสดุสำหรับห่อหุ้มขวดนมเปรี้ยวซึ่งหากเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกันซึ่งมีเงินทุนของตนเองทำธุรกิจจะทำสัญญาผูกพันกันนานเท่าใดก็ได้แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการบริหารกิจการ การที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงชื่อในสัญญาแล้ว พนักงานนำไปให้โจทก์ลงชื่อที่สำนักงานโจทก์เช่นนี้โจทก์ก็ตกลงยินยอมทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลย่อมต้องมีระเบียบข้อบังคับในการดำเนินการ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาผูกพันจะต้องซื้อวัสดุจากโจทก์ยาวนานต่อเนื่องไม่ขาดสายทุกเดือนเป็นเวลาถึง 7 ปี เป็นการเอื้อประโยชน์แก่โจทก์ โดยเชิงธุรกิจก็ย่อมต้องก่อให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างเอกชนอื่นกับองค์การของจำเลยที่ 1 กล่าวคือทำให้เอกชนรายอื่นที่อาจจะเสนอราคาแข่งขันกับโจทก์ตกเป็นผู้เสียเปรียบโจทก์เนื่องจากการใช้วิธีการพิเศษในการจัดซื้อนอกจากนี้ความจำเป็นในการนำไปใช้งานของวัสดุที่สั่งซื้อส่อแสดงว่าประสงค์ได้อามิสสินจ้างในการทำสัญญาครั้งนี้จึงมีเจตนาทุจริตดังที่โจทก์ฎีกามา ซึ่งย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อวัสดุในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์การของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารในองค์การของรัฐ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัอต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ.