คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเงินที่ กระทรวงกลาโหม สั่งให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่สู้รบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม มิใช่เป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ไม่อาจนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 158 คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมด จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 14ที่ 22 ที่ 92 โดยไม่นำเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.)มารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย ขอให้ชำระค่าชดเชยส่วนที่ขาดพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.)ไม่ใช่ค่าจ้าง จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องนำเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) สำหรับโจทก์ที่ 14 ที่ 22 ที่ 92 มารวมคำนวณค่าชดเชยด้วย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว เป็นเงินที่กระทรวงกลาโหมสั่งให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่โจทก์ เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่สู้รบ ณสาธารณรัฐเวียตนาม มิใช่เป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) จึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2 แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2521 ข้อ 3.3 จะระบุว่า “เงินเดือน” หมายความรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ด้วยก็เป็นเพียงจำเลยได้กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคิดคำนวณเงินบำเหน็จของจำเลยว่าจะให้นำเงินประเภทใดไปรวมคิดคำนวณบ้างเท่านั้น ส่วนเงินที่จำเลยกำหนดให้นำไปรวมในการคิดคำนวณเงินบำเหน็จจะเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยได้หรือไม่ต้องพิจารณาว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวหรือไม่ เมื่อเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) มิใช่ค่าจ้างตามประกาศดังกล่าวดังได้วินิจฉัยมา จึงไม่อาจนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 14 ที่ 22 และที่ 92 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 1,800 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 1,800 บาท และโจทก์ที่ 92 เป็นเงิน 2,400 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

Share