คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ละเลยมิได้ติดตั้งอุปกรณ์จำกัดการไหลของกระแสไฟฟ้าหรือใช้หม้อแปลงให้กระแสไฟฟ้ามีแรงดันไม่เกิน 220 โวลต์ ก่อนเข้าสู่ป้ายโฆษณาของโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยอมเสี่ยงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ไม่อาจเรียกร้องความรับผิดจากผู้ใดได้ เช่น ฟ้าผ่า หรือสายไฟฟ้าแรงสูงขาดตกลงมาพาดทับป้ายโฆษณาของโจทก์โดยอุบัติเหตุ แต่ในกรณีนี้ความเสียหายจะไม่เกิดแก่โจทก์แม้ปราศจากอุปกรณ์ดังกล่าว ถ้าจำเลยมิได้กระทำด้วยความประมาทโดยการทำให้ท่อส่งปูนซิเมนต์สู่ที่สูงพาดถูกสายไฟฟ้าแรงสูงขาดตกลงมาถูกสายไฟฟ้าแรงต่ำเป็นเหตุให้สายไฟฟ้าแรงต่ำเพิ่มแรงดันมากขึ้นทำให้ป้ายโฆษณาของโจทก์เสียหายความประมาทของจำเลยจึงเป็นผลโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์
จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยกับจำเลยซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยว่า ผู้เอาประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุการใช้รถยนต์ระหว่างระยะเวลาประกันภัยโดยระบุว่าไม่คุ้มครองตัวเครนและอุบัติเหตุจากตัวเครน ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยร่วมจำกัดความรับผิดในการประกันภัยเฉพาะความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์เท่านั้น จำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ที่เอาประกันภัยจะนำไปติดตั้งเครนจึงระบุข้อจำกัดความรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดจากตัวเครนไว้โดยชัดแจ้งเมื่อความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวเครนหาใช่รถยนต์ที่รับประกันภัยไว้จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำป้ายโฆษณาระบบไฟฟ้าควบคุมตัวอักษรไฟวิ่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้กำลังไฟฟ้ากระแสไฟฟ้าแรงต่ำจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งปูนซิเมนต์สู่ที่สูง โดยทางท่อระบบไฮดรอลิก ได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ท่อส่งปูนซิเมนต์ยื่นไปพาดถูกสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าแรงสูงขาดตกพาดทับกับสายไฟฟ้าแรงต่ำที่โจทก์ใช้ในการโฆษณาสินค้า กระแสไฟฟ้าแรงสูงจึงเหนี่ยวนำวิ่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของป้ายโฆษณาสินค้าของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 795,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 780,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำให้ท่อส่งปูนซิเมนต์ไปพาดถูกสายไฟฟ้าดังกล่าว แต่เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพเก่าของสายไฟฟ้าดังกล่าวเองและสายไฟฟ้าแรงสูงที่ขาดนั้นก็มิได้พาดตกถูกสายไฟฟ้าแรงต่ำเป็นเหตุให้ระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ของโจทก์เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ความเสียหายเกิดจากความบกพร่องผิดพลาดในระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ของโจทก์เอง ซึ่งถือเป็นความประมาทของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากท่อส่งปูนซิเมนต์ซึ่งเป็นส่วนเครนและส่วนประกอบของตัวเครนซึ่งนำมาติดตั้งอยู่บนตัวรถเพื่อใช้ปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะอย่างมิใช่เกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถยนต์ จึงไม่เข้าเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยอันจำเลยร่วมจะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.3 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 740,000บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 540,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องจำเลยร่วม

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อแรกว่า ป้ายโฆษณาของโจทก์ใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ได้ติดตั้ง (โหลดเซนเตอร์) ระบบควบคุมไม่ให้กระแสไฟฟ้าเข้าป้ายโฆษณาเกิน 220 โวลต์ แต่ไม่เกิน 400 โวลต์ เท่านั้น อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าจึงจะตัดกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ แต่กระแสไฟฟ้าแรงสูงที่ไหลเข้าป้ายโฆษณาของโจทก์มีกำลังกว่า 32,000 โวลต์ กระแสไฟฟ้าดังกล่าวจึงสามารถผ่านอุปกรณ์ตัวตัดกระแสไฟฟ้าเข้าป้ายโฆษณาของโจทก์ได้ อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้งจึงไม่สามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวได้ นอกจากนั้นโจทก์ยังไม่ใช้ฟิวส์อันเป็นอุปกรณ์จำกัดการไหลของกระแสไฟฟ้าหรือใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อให้กระแสไฟฟ้าผ่านหม้อแปลงให้มีแรงดันไม่เกิน 220 โวลต์ ก่อนเข้าสู่ป้ายโฆษณาของโจทก์ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนี้โจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจากการที่กระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลเข้าป้ายโฆษณาของโจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะความประมาทของโจทก์เอง เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ละเลยมิได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังจำเลยทั้งสองอ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยอมเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ไม่อาจเรียกร้องความรับผิดจากผู้ใดได้ เช่น ฟ้าผ่า หรือสายไฟฟ้าแรงสูงขาดตกมาพาดทับป้ายโฆษณาของโจทก์โดยอุบัติเหตุแต่ในกรณีนี้ความเสียหายจะไม่เกิดแก่โจทก์แม้ปราศจากอุปกรณ์ดังกล่าว ถ้าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำด้วยความประมาทโดยการทำให้ท่อส่งปูนซิเมนต์สู่ที่สูงพาดถูกสายไฟฟ้าแรงสูงขาดตกลงมาถูกสายไฟฟ้าแรงต่ำ เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าแรงต่ำเพิ่มแรงดันมากขึ้นทำให้ป้ายโฆษณาของโจทก์เสียหาย ความประมาทของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผลโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.9 ข้อ 2.3 ว่า ผู้เอาประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุการใช้รถยนต์ระหว่างระยะเวลาประกันภัย โดยมีข้อความระบุไว้ในรายการที่ 5 ว่า ไม่คุ้มครองตัวเครนและอุบัติเหตุจากตัวเครน ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยร่วมจำกัดความรับผิดในการรับประกันภัยเฉพาะความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์เท่านั้นจำเลยร่วมรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ที่เอาประกันภัยจะนำไปติดตั้งเครนจึงระบุข้อจำกัดความรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดจากตัวเครนไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวเครนหาใช่รถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share