แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 9 ฟ้องคดีขอให้เปิดทางจำเป็น แม้จะเป็นผู้รับมอบอำนาจหลายคน แต่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 เป็นเจ้าของร่วมกัน จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 9ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข)แห่งประมวลรัษฎากร ทางใดที่เป็นทางจำเป็น โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ได้โดยอำนาจแห่งกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349โดยไม่จำต้องจดทะเบียนสิทธิอีก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเปิดทางตามแนวถนนกว้าง 8 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 696 และโฉนดเลขที่ 55725ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครเพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 62551โฉนดเลขที่ 109674 โฉนดเลขที่ 62552 และโฉนดเลขที่ 62553ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครของโจทก์ทั้งเก้าและให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้า หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสามโดยให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อไปจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ยินยอมให้เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 40111, 51349, 191809,55680, 55681 และ 696 รวม 6 โฉนด ซึ่งเป็นเจ้าของรายเดียวเป็นผู้ใช้ถนนพิพาทโดยจดทะเบียนภารจำยอมให้เพียงรายเดียวเท่านั้นมิได้อนุญาตให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์แต่ประการใดโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 สามารถผ่านที่ดินแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้แต่เหตุที่โจทก์ทั้งเก้าต้องการผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3เนื่องจากสะดวกเพราะมีถนนผ่านอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างถนนหรือทางเดินใหม่และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นหากโจทก์ทั้งเก้าผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินบนที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งเก้ารายละ 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,800,000 บาทขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งเก้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์ทั้งเก้าผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โฉนดเลขที่ 55725 นั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายเพราะที่ดินดังกล่าวมีแนวถนนตัดผ่านอยู่แล้วเป็นทางเข้าออกที่ดินแปลงอื่นอีกหลายแปลงจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งเก้า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทกว้าง 6 เมตรยาวประมาณ 100 เมตร บนที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 696ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เปิดทางพิพาทกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ200 เมตร บนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โฉนดเลขที่ 55725ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครเพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 62551โฉนดเลขที่ 109674 โฉนดเลขที่ 62552 และโฉนดเลขที่ 62553ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครของโจทก์ทั้งเก้า ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนทางจำเป็นในโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสามให้แก่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าวของโจทก์ทั้งเก้า หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสาม และให้โจทก์ที่ 1ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 2 ชำระเป็นเงิน60,000 บาท โจทก์ที่ 3 ชำระเป็นเงิน 180,000 บาท โจทก์ที่ 4ถึงที่ 9 ร่วมกันชำระเป็นเงิน 320,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.14 โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8ปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท ไม่ถูกต้อง ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ไม่ชอบปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใบมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 9 ฟ้องคดีปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 9เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 62553 โจทก์ที่ 9มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1359 แม้การปิดอากรแสตมป์ในใบมอบอำนาจไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 9เสียไปและไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะคดีนี้โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 9 ฟ้องคดีซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ฟ้องคดีเอง แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เป็นเรื่องเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆอาจใช้สิทธิของตนอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247แต่ศาลฎีกาเห็นว่า เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า เห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า โจทก์ที่ 4ถึงที่ 8 แม้จะเป็นผู้มอบอำนาจหลายคนแต่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 62553 จึงเป็นผู้มีอำนาจร่วมกันและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 9 ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข) ซึ่งกำหนดไว้ 30 บาท ปรากฏว่าใบมอบอำนาจเอกสารหมายจ.14 ของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ติดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงถูกต้องแล้วโจทก์ที่ 9 มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 8 ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่าโจทก์ทั้งเก้าสามารถใช้เส้นทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะได้และหากเปิดทางให้โจทก์ทั้งเก้าใช้จำเลยที่ 1 จะได้รับความเสียหายมากเพราะมีบุคคลภายนอกเข้าออกพลุกพล่านไม่สามารถควบคุมได้ทางจะทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ จำเลยที่ 1 มีข้อผูกพันตามสัญญาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกค้ารายละ 100,000 บาท เห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยที่ 1 เจือสมกับพยานโจทก์ทั้งเก้า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ทางพิพาทส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อที่ดินและบ้านจัดสรรของจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ส่วนทางพิพาทซึ่งอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินที่จำเลยที่ 1 จัดสรรขายแล้วและทางพิพาทเป็นแนวเดียวกันตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นที่จำเลยที่ 1เสียหายน้อยที่สุด ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งเก้าฎีกาข้อเดียวว่า ถ้ามิได้มีการจดทะเบียนทางจำเป็นแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์โจทก์ทั้งเก้าต้องยื่นฟ้องต่อศาลใหม่อีก เห็นว่า เมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้วโจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้โดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสิทธิอีก ฎีกาโจทก์ทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน