คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมานานแล้ว จะมีการกำเริบ เป็นครั้งคราวและไม่อาจรู้ได้ล่วงหน้า เมื่อมีอาการทางจิต แล้วจะรู้สึกกลัวและจำอะไรไม่ได้ การที่จำเลยฟันทำร้าย ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ผู้เสียหายทั้งสี่มีเรื่องบาดหมางมาก่อนอันจะเป็นมูลเหตุ ให้จำเลยโกรธเคืองมุ่งร้ายผู้เสียหาย ถือเป็นการผิดปกติวิสัย ที่คนจิตปกติจะมาฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุใด ๆ มาก่อน ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่ สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรกนั้นต้อง พิจารณาถึงผู้กระทำว่ารู้สึกผิดชอบในการกระทำผิดลงในขณะนั้นกับขณะนั้นผู้กระทำสามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่อันเนื่องจากมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต มิใช่ถือเอาการกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุ ที่นำชี้สถานที่เกิดเหตุกับแสดงท่าทาง ในการกระทำผิดมาเป็นเกณฑ์พิจารณาประกอบการกระทำความผิด ที่กระทำก่อนแล้วไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดพร้าใบมีดยาว 33 เซนติเมตรกว้าง 5 เซนติเมตร เป็นอาวุธฟันเด็กหญิงรุสนิง สะละที่บริเวณคอโดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากแพทย์ทำการรักษาเด็กหญิงรุสนิงได้ทันท่วงทีเด็กหญิงรุสนิงจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยใช้มีดพร้าดังกล่าวเป็นอาวุธฟันประทุษร้ายร่างกายนายย๊ะยา ดาละ นายมะยากี วาหนิ และนายอาซิ สะละเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 297, 91, 80, 33และริบมีดพร้าของกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 295ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 65 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบมีดพร้าของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ส่งจำเลยไปคุมตัวไว้เพื่อทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลประสานสงขลาจนกระทั่งแพทย์ผู้ตรวจรักษาเห็นว่าจำเลยหายป่วยและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นอีกต่อไป จึงให้พ้นจากการคุมตัว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้มีดพร้าของกลางตามฟ้องเป็นอาวุธฟันทำร้ายเด็กหญิงรุสนิง สะละถูกบริเวณที่คอด้านซ้ายได้รับอันตรายสาหัสกับฟันทำร้ายนายย๊ะยา ดาละนายมะยากี วาหนิ นายอาซิ สะละ บิดาเด็กหญิงรุสนิงได้รับอันตรายแก่กายตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.7 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำผิดในขณะที่ตนยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ซึ่งจำเลยจะต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าภายหลังเกิดเหตุในชั้นสอบสวนจำเลยสามารถนำชี้ที่เกิดเหตุและแสดงท่าทางในการกระทำผิดซึ่งพนักงานสอบสวนได้ถ่ายภาพไว้แสดงว่าในการกระทำผิดจำเลยยังสามารถรู้สึกผิดชอบบ้างเพราะถ้าหากในขณะกระทำผิดจำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบแล้วเมื่ออาการทางจิตสงบจนรู้สึกตัวเป็นปกติแล้วจำเลยย่อมไม่สามารถจะจำสิ่งที่กระทำไปได้ จำเลยจึงควรจะได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้ฝ่ายโจทก์มีนายอาซิ สะละ ผู้เสียหาย และเป็นบิดาของเด็กหญิงรุสนิง สะละผู้ถูกจำเลยทำร้ายได้รับบาดเจ็บ กับนายมะยะกี วาหนิพยานโจทก์มาเบิกความใจความว่า ก่อนเกิดเหตุญาติจำเลยเคยนำจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลประสาทจังหวัดสงขลาหลายครั้ง ในวันเกิดเหตุที่จำเลยเข้ามาฟันทำร้ายนายอาซิพยานโจทก์ จำเลยมีอาการผิดปกติคือ มือสั่น ตัวสั่น และไม่พูดคุยอะไรเลยและเชื่อว่าเหตุที่จำเลยฟันทำร้ายนายอาชิกับเด็กหญิงรุสนิงเนื่องจากจำเลยเป็นบ้า นายมะยากี วาหนิผู้เสียหายซึ่งถูกจำเลยฟันได้รับบาดเจ็บคนหนึ่งเบิกความตอบคำซักค้านของทนายจำเลยว่าจำเลยเป็นโรคประสาทชาวบ้านทั่วไปทราบดีว่าจำเลยเป็นโรคประสาทเคยถูกล่ามโซ่ซึ่งคำของพยานโจทก์ดังกล่าวเจือสมกับนายมะรอชี ดือรานิงซึ่งเป็นบุตรเขยจำเลย นายมะยูโซ๊ะ เจ๊ะแม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ญาติของจำเลยกับนางเจ๊ะสือเม๊าะ สาริก๊ะ ภริยาจำเลยเป็นน้องสามีพยาน พยานเป็นมารดาของเด็กหญิงรุสนิง สะละกับเป็นภริยาของนายอาซิ สะละ พยานโจทก์ดังกล่าวว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมานานแล้ว จะมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราวและไม่อาจรู้ได้ล่วงหน้า เมื่อมีอาการทางจิตแล้วจะรู้สึกกลัวและจำอะไรไม่ได้ การที่จำเลยฟันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ตามฟ้องได้รับบาดเจ็บนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้เสียหายทั้งสี่มีเรื่องบาดหมางใด ๆ มาก่อนอันจะเป็นมูลเหตุให้จำเลยโกรธเคืองมามุ่งทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าว โดยเฉพาะนายอาซิพยานโจทก์เป็นพี่ภริยาของจำเลย ส่วนเด็กหญิงรุสนิงเป็นหลานจำเลยซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยที่คนมีจิตปกติจะมาฟันทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าวโดยไม่ปรากฏมีสาเหตุใด ๆ มาก่อนดังนั้นตามพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก ที่โจทก์ฎีกาว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยนำชี้สถานที่เกิดเหตุกับแสดงท่าทางในการกระทำผิด แสดงว่าในขณะกระทำผิดจำเลยมีความสามารถรู้ผิดชอบหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้างนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยกรณีไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก นั้น ต้องพิจารณาถึงผู้กระทำว่ารู้สึกผิดชอบในการกระทำผิดลงในขณะนั้นกับขณะนั้นผู้กระทำสามารถยับยั้งหรือบังคับตนเองได้หรือไม่อันเนื่องจากมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต มิใช่ถือเอาการกระทำของจำเลยภายหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเกณฑ์พิจารณาประกอบการกระทำความผิดที่กระทำก่อนแล้วตามที่โจทก์ฎีกาอ้างไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่มีดพร้าของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดจึงให้ริบ”
พิพากษายืน แต่ของกลางให้ริบ

Share