แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองนายพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลมีพิรุธขัดกับเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ ต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้จากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมและบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนซึ่งกอปร ด้วยเหตุผลปราศจากพิรุธสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจพยานโจทก์ทำบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและให้การ ต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุ ย่อมไม่ทัน มีเวลาไตร่ตรองหรือได้รับการติดต่อให้บิดเบือนความจริง เพื่อช่วยเหลือผู้ใด และไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าพยาน ดังกล่าวจะให้การกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงตามบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวน เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความชั้นศาล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงซึ่งพยานหลักฐานทั้งปวงที่ศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักนี้ย่อมได้แก่พยานวัตถุพยานบุคคล รวมทั้งพยานเอกสาร ที่โจทก์อ้างและ สืบเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิด ที่จำเลยอ้างและสืบเพื่อพิสูจน์ ว่าจำเลยบริสุทธิ์ รวมทั้งสำนวนการสอบสวนที่ศาลเรียกมา เพื่อประกอบการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง66 วรรคสอง จำคุกตลอดชีวิตชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1เฮโรอีนของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ เลี้ยงสุข และสิบตำรวจโทศักดาวุธ พิทักษ์วงศ์ซึ่งร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความประกอบกันว่า สายลับได้มาแจ้งให้ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ทราบเป็นระยะว่า ในวันที่26 พฤศจิกายน 2538 เวลา 11 นาฬิกา จะมีกลุ่มของนายมนัสหรือมล จำเลยที่ 2 ส่งมอบเฮโรอีนกันในเขตอำเภอหาดใหญ่บริเวณปากซอย 6 ถนนเพชรเกษม อำเภอคอหงส์ ในวันนั้นเวลาประมาณ 8 นาฬิการ้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้ประชุมวางแผนร่วมกับชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ โดยมีพันตำรวจตรีพัฒนวุธ อังคะนาวิน เป็นหัวหน้าชุด มีการวางแผนกำหนดจุดและแบ่งกำลังเป็น 4 ชุด เจ้าพนักงานตำรวจทุกนายแต่งกายนอกเครื่องแบบและเข้าประจำจุดเมื่อเวลาประมาณ10 นาฬิกา ได้เฝ้าอยู่ประมาณเกือบชั่วโมง พบรถจักรยานยนต์แบบชาย สีฟ้า ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับและมีจำเลยที่ 1 นั่งมาด้วย โดยสายลับเป็นผู้ชี้ให้ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ทราบว่าเป็นกลุ่มคนร้ายแล้วร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้รับแจ้งทางวิทยุจากชุดสังเกตการณ์ว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวนั้น ผู้ที่นั่งซ้อนท้ายได้ลงจากรถไปอยู่บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะด้านหน้าอู่รถยนต์โดยจำเลยที่ 2ยังคงขับรถจักรยานยนต์วนเวียนสังเกตการณ์อยู่อีก 2 รอบในขณะนั้นการประสานงานของกำลังเจ้าพนักงานตำรวจทั้ง 4 ชุดประสานงานทางวิทยุ ต่อมาร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้รับแจ้งทางวิทยุว่าจำเลยที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดบริเวณหน้าอู่รถยนต์และมีหญิงกลางคนนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปลงที่บริเวณคิวรถจักรยานยนต์แล้วข้ามถนนไปคุยกับจำเลยทั้งสอง โดยหญิงดังกล่าวถือกระเป๋าเดินทางลายสีน้ำเงินแล้วร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นสายตรวจในเครื่องแบบสองนายขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในจุดที่เกิดเหตุบริเวณคิว รถทำให้กลุ่มคนร้ายแตกออกจากกัน ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์จึงสั่งการทางวิทยุให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มอยู่เข้าจับกุมคนร้าย ซึ่งสิบตำรวจโทศักดาวุธกับพวกสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่บริเวณใกล้กับตู้โทรศัพท์ ส่วนหญิงดังกล่าวได้วิ่งเข้าไปในกลุ่มคนหลบหนีไปได้ สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีเข้าไปในซอย 6 ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้ขับรถยนต์เก๋งไล่ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ภายในซอย 6 นั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบริเวณที่เกิดเหตุ พบกระเป๋าเดินทางลายสีน้ำเงินวางอยู่ใกล้กับตู้โทรศัพท์ เมื่อเปิดออกดูพบว่าในกระเป๋าดังกล่าวมีถุงกระดาษสีน้ำตาลบรรจุเฮโรอีนจำนวน 2 ถุงชั้นจับกุมร้อยตำรวจเอกพฤษษ์แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพแต่เมื่อพิจารณาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมเอกสารหมาย จ.2 แล้วกลับปรากฏข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวในข้อสาระสำคัญนี่ เองซึ่งเป็นเหตุให้หลังสืบพยานโจทก์พยานจำเลยเสร็จ ศาลชั้นต้นได้ตรวจสำนวนแล้วเห็นควรเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการโจทก์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัยแล้วพบว่า ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุนั้นเอง ส่วนสิบตำรวจโทศักดาวุธให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2538 หลังเกิดเหตุแล้ว 14 วัน จากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมเอกสารหมาย จ.2และบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากข้างต้นได้ข้อเท็จจริงตรงกันว่าพฤติการณ์ก่อนการจับกุมผู้จับกุมและพวกได้ร่วมกันสืบสวนทราบว่าผู้ต้องหาและพวกมีพฤติการณ์เป็นผู้ค้าเฮโรอีนรายใหญ่ในจังหวัดสงขลา จึงได้เฝ้าติดตามพฤติการณ์จนทราบเป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการซื้อขายเฮโรอีนกันที่บริเวณเกิดเหตุก่อนการจับกุมได้พากำลังไปเฝ้าสังเกตการณ์และพบผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับมอบกระเป๋าของกลางรายการที่ 2 จากหญิงกลางคนซึ่งมากับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และได้เดินไปขึ้นรถจักรยานยนต์รายการที่ 3 ซึ่งผู้ต้องหาที่ 2 ขับเข้าไปรับผู้จับกุมและพวกจึงได้เข้าทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 1 ได้พร้อมของกลางรายการที่ 2 ซึ่งบรรจุเฮโรอีนรายการที่ 1 อยู่จึงได้นำตัวมาสอบสวนปากคำในเบื้องต้นโดยได้ทำการตรวจพิสูจน์เฮโรอีนของกลางด้วยน้ำยามาร์ควิส ต่อหน้าผู้ต้องหาทั้งสองแล้วให้สีม่วง สำหรับเฮโรอีนของกลางผู้ต้องหาที่ 1 รับว่ามารับให้นายเนียน เพ็ชรสลับสี ซึ่งเป็นน้าของผู้ต้องหาที่ 1 เองส่วนผู้ต้องหาที่ 2 รับว่าเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันของกลางมากับผู้ต้องหาที่ 1 จากบ้านปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลามารอรับเฮโรอีนโดยมาเป็นเพื่อนและทราบว่าผู้ต้องหาที่ 1มารับเฮโรอีนซึ่งขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมนั้นได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปได้ประมาณ 200 เมตร ก็ถูกเจ้าพนักงานไล่ติดตามจับกุมตัวได้ในเวลาไล่เลี่ยกันกับผู้ต้องหาที่ 1 เมื่อเป็นเช่นนี้คดีจึงมีปัญหาว่า ศาลฎีกาจะพึงรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าเป็นความจริง หรือจะพึงรับฟังข้อเท็จจริงตามบันทึกการแจ้งข้อหาจับกุมและบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนว่าเป็นความจริง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลมีพิรุธขัดกับเหตุผลไม่น่าเชื่อถือเพราะในเมื่อร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ได้ประชุมวางแผนร่วมกับชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 8 นาฬิกา แล้วไฉนจู่ ๆ เมื่อใกล้เวลาที่จะเข้าทำการจับกุมคนร้าย ก็กลับมีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจในพื้นที่ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบขับรถจักรยานยนต์เข้ามายังจุดที่คนร้ายกำลังจะส่งมอบเฮโรอีนกันเพื่อให้คนร้ายสังเกตเห็นและตกใจหลบหนีก่อนส่งมอบเฮโรอีนกัน เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจสองนายนั้นชื่ออะไรก็ไม่ปรากฏและไม่ทราบ หรือว่าเช้าวันนั้นมีการประชุมวางแผนกันเพื่อจะจับกุมคนร้ายในบริเวณที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจผู้เฝ้าซุ่มอยู่ตามจุดต่าง ๆ 4 ชุดน่าจะสามารถติดต่อทางวิทยุหรือส่งอาณัติ สัญญาณหรือติดต่อบอกกล่าวโดยตรงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสองนายนั้นอย่าเข้ามาใกล้บริเวณที่เกิดเหตุและเมื่อจำเลยยังไม่ทันรับเฮโรอีนจากผู้มาส่งก็ไม่สมเหตุสมผลที่ร้อยตำรวจเอกพฤกษ์จะด่วนสั่งเจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มอยู่ให้เข้าทำการจับกุม เพราะจำเลยยังมิได้กระทำความผิดสำเร็จฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจในเครื่องแบบสองนายขับรถจักรยานยนต์เข้ามายังบริเวณที่จะมีการส่งมอบเฮโรอีนกันจึงไม่น่าเชื่อ ต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้จากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมและบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ทั้งสองในชั้นสอบสวนซึ่งกอปร ด้วยเหตุผลปราศจากพิรุธสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในการสืบสวนและจะเข้าจับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่สืบทราบว่าจะมีการส่งมอบเฮโรอีนกันร้อยตำรวจเอกพฤกษ์ทำบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุ จึงยังไม่ทันมีเวลาไตร่ตรองหรือได้รับการติดต่อให้บิดเบือนความจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ใด ทั้งไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าร้อยตำรวจเอกพฤกษ์และสิบตำรวจโทศักดาวุธจะให้การกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองจึงยอมรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานที่ถูกจับกุมตัวได้พร้อมเฮโรอีนของกลางในมือ มิใช่เพราะถูกขู่บังคับให้ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบเมื่อพนักงานสอบสวนทำบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.3 จำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เป็นของตน แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนมิได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 โดยเร็วในวันเกิดเหตุ เพิ่งมาสอบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 หลังเกิดเหตุแล้ว 4 วัน จำเลยที่ 1จึงมีเวลาไตร่ตรองหาข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้วจึงให้การปฏิเสธ แต่ก็ยังคงยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่าในชั้นจับกุมเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจถามอะไร จำเลยที่ 1 ก็ตอบรับ โดยอ้างว่าเพราะกลัวเจ้าพนักงานตำรวจดังปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในสำนวนการสอบสวนที่ศาลชั้นต้นเรียกมาเมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะยอมรับในข้อหาที่ร้ายแรงเช่นนี้หากมิใช่เป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน ในชั้นสอบสวนไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าหญิงวัยกลางคนที่มาส่งเฮโรอีนได้ลงจากรถจักรยานยนต์รับจ้างแล้วเดินข้ามถนนไปคุยกับจำเลยที่ 1 นี่ เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดหญิงคนนี้จึงหนีรอดพ้นจากการจับกุมไปได้คดีจึงเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนของพยานทั้งสองเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความชั้นศาล ในเรื่องการสอบสวนก็ดีสำนวนการสอบสวนก็ดี ตลอดจนการอ้างและวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานก็ดี เหล่านี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาล้วนมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ โดยมาตรา 2(11) ให้นิยาม “การสอบสวน”ไว้ว่า หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ มาตรา 2(20)บัญญัติว่า “บันทึก” หมายความถึงหนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญารวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย มาตรา 131 บัญญัติว่า”ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด” มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใด ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย แล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้” และวรรคสองบัญญัติว่า”การถามปากคำนั้นพนักงานสอบสวนจะให้ผู้ให้ถ้อยคำสาบานหรือปฏิญาณตัวเสียก่อนก็ได้ และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยพยานบุคคล” มาตรา 134 บัญญัติว่า”เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดา อายุ อาชีพที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ และต้องบอกให้ทราบก่อนว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลย ก็ให้บันทึกไว้”มาตรา 139 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้”และวรรคสองบัญญัติว่า “เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวนถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้”คือรวมเข้าเป็น “สำนวนการสอบสวน” นั่นเองมาตรา 175 บัญญัติว่า”เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควรศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้”คือนอกจากจะไม่บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลรับฟังแล้ว ยังบัญญัติเน้น ให้ศาลมีอำนาจที่จะเรียกสำนวนการสอบสวนมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้มาตรา 226 บัญญัติว่า “พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญหลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน” ซึ่งพยานเอกสารในคดีอาญา ปกติที่สำคัญทั้งหมดหรือแทบทั้งหมด ย่อมได้แก่เอกสารต่าง ๆ ที่พนักงานสอบสวนรวบรวมเข้าไว้แล้วในสำนวนการสอบสวน และมาตรา 227 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” ซึ่งพยานหลักฐานทั้งปวงที่ศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักนี้ย่อมได้แก่พยานวัตถุ พยานบุคคล รวมทั้งพยานเอกสาร ที่โจทก์อ้างและสืบเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิด และที่จำเลยอ้างและสืบเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยบริสุทธิ์คดีนี้จากพยานหลักฐานที่โจทก์สืบและสำนวนการสอบสวนที่ศาลเรียกมาเพื่อประกอบการวินิจฉัย ศาลฎีกาเชื่อเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดจริงดังฟ้องฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น