คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องจ่ายเพิ่มให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม แม้โจทก์จะมิได้อ้างถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคท้าย มาก็ตาม ก็ยังคงมีสิทธิได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์
โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 10 ซึ่งมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่คือจำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ตกลงกันทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งวันครบกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือ วันที่ 8 มิถุนายน 2542 อันเป็นวันที่จะต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไป ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5115 เนื้อที่ 5,334 ตารางวา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2539 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วน เนื้อที่ 3,554 ตารางวา จำเลยที่ 2 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ตารางวาละ 8,500 บาท รวมเป็นเงิน 30,209,000 บาท โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาจำเลยที่ 1 วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ 3,500 บาท รวมเป็นเงิน 12,341,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 301,340.17 บาท รวมเป็นเงิน 12,642,340.17 บาท โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดตารางวาละ 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 183,255,899.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 170,928,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 10,578,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้าย ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะได้รับเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ มิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 บัญญัติไว้ อีกทั้งในการนำสืบโจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแสดงว่าโจทก์มิได้ประสงค์ที่จะขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 บัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าที่ขอ ถูกต้องหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องจ่ายเพิ่มให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม แม้โจทก์จะมิได้อ้างถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคท้าย มาก็ตาม ก็ยังคงมีสิทธิได้รับอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ต้องไม่เกินคำขอของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2542 เกินคำขอของโจทก์ที่ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2542 และเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะได้รับตามที่มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติไว้ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่คือจำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ตกลงกันทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งวันครบกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือวันที่ 8 มิถุนายน 2542 อันเป็นวันที่จะต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไป ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share