คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4054/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่า ธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นสุดผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ.” แม้จำเลยทั้งสองจะได้ใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ร่วมไปครบถ้วนแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่ก็มิใช่การใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นเหตุให้ถือว่าคดีเลิกกันตาม ป.วิ.อ. เหตุที่จะถือว่าคดีเลิกกันคงมีเพียงว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งสองได้นำเงินตามเช็คพิพาทวางไว้ต่อศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทั้งสองชำระแต่ต้นเงินตามเช็คพิพาทเท่านั้น จำเลยทั้งสองยังไม่แสดงหลักฐานว่าได้ชำระดอกเบี้ยตามเช็คพิพาทด้วย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับ ระหว่างพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาททั้งสามฉบับคดีนี้กับเช็คคดีอื่น ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งธนบุรี คดีดังกล่าวโจทก์ได้บังคับคดีและได้รับเงินตามคำพิพากษาไปครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลฎีกาได้นัดพร้อมสอบโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ชำระหนี้ตามเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งรวมเช็คพิพาทคดีนี้ 3 ฉบับ โดยมูลหนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณที่เป็นผนังด้านนอกอาคาร บ. ของโจทก์ร่วมศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมามีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ได้วางเงินชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมก็มิได้คัดค้านว่ายังมีหนี้ดังกล่าวเหลืออยู่ ดังนั้น จึงถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทคดีนี้เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7557/2547 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4225/2547 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทภูมิภวัน จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1) (3) (5)) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 30,000 บาท รวมปรับ 90,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงปรับ 45,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 9 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7557/2547 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4225/2547 ของศาลชั้นต้นนั้นยังมิได้มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 5,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นเงิน 15,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 9 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงปรับ 7,500 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกคำขอนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7557/2547 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองได้นำเงินจำนวน 300,000 บาท วางไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อใช้เงินตามเช็ค และในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองได้นำเงินจำนวน 1,267,500 บาท วางไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อใช้เงินตามเช็ค รวมเงินทั้งสองจำนวน 1,567,500 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ ต่อมาโจทก์ร่วมได้ขอรับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลชั้นต้นแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยทั้งสองใช้เงินตามเช็คทั้งสามฉบับแก่โจทก์ร่วมถือว่าคดีเลิกกันหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” แม้จำเลยทั้งสองจะได้ใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ร่วมไปครบถ้วนแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่ก็มิใช่การใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นเหตุให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหตุที่จะให้ถือว่าคดีเลิกกันคงมีเพียงว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือไม่ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลง ลงวันที่ 15 มกราคม 2550 ว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งสองได้นำเงินตามเช็คพิพาทวางไว้ต่อศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทั้งสองชำระแต่ต้นเงินตามเช็คพิพาทเท่านั้น จำเลยทั้งสองยังไม่แสดงหลักฐานว่าได้ชำระดอกเบี้ยตามเช็คพิพาทด้วย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับ ระหว่างพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นโจทก์ร่วมได้นำเช็คพิพาททั้งสามฉบับคดีนี้กับเช็คฉบับอื่นฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลย (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ชำระเงิน 2,612,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ (โจทก์ร่วมคดีนี้) ต่อมาโจทก์ (โจทก์ร่วมคดีนี้) ได้บังคับคดีและได้รับเงินตามคำพิพากษาไปครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับศาลฎีกาได้นัดพร้อมสอบโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมแถลงว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทในคดีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว การที่จะดำเนินคดีต่อไปแล้วแต่ศาลจะพิจารณา โจทก์แถลงไม่ค้านคำแถลงของโจทก์ร่วม เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำฟ้องสำเนาคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรี สำเนารายงานเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี และสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายคำแถลงของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 15 มกราคม 2550 ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมไม่คัดค้านฟังได้ว่า โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ชำระหนี้ตามเช็ค 5 ฉบับ ซึ่งรวมเช็คพิพาทคดีนี้ 3 ฉบับ โดยมูลหนี้เกิดจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณที่เป็นผนังด้านนอกอาคารใบหยกทาวเวอร์ 2 ของโจทก์ร่วม ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมามีการบังคับคดี จำเลยที่ 1 ได้วางเงินชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมก็มิได้คัดค้านว่ายังมีหนี้ดังกล่าวเหลืออยู่ ดังนั้น จึงถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทคดีนี้เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คพิพาทย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3) ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share