คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชี้ให้โจทก์ร่วมดูบ้านและที่ดิน จำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็นนายหน้าชักชวนโจทก์ร่วมมาดูที่ดินและรับซื้อฝาก เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วย ในลักษณะเป็นตัวการร่วมกัน แต่แบ่งงานกันทำ เมื่อที่ดินที่โจทก์ร่วมรับซื้อฝากตามสัญญาขายฝากที่ดินเป็นคนละแปลงกับที่จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ ทั้งไม่มีทาวน์เฮาส์ปลูกอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์ร่วมรับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม นิติกรรมยอมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันคืนเงินที่รับซื้อฝากไว้ให้แก่โจทก์ร่วมก็ต่อเมื่อโจทก์ร่วมต้องคืนที่ดินที่รับซื้อฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้เสนอที่จะคืนที่ดินดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ชำระเงินค่าที่ดินที่ซื้อฝากไปเท่าใด ศาลจึงไม่อาจสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่รับฝาก แก่โจทก์ร่วมได้ ชอบที่โจทก์ร่วมจะต้องไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกนายสุรทิน ว่าจำเลยที่ 1 นางสำราญ ว่าจำเลยที่ 2 และนางเรียม ว่าจำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนโดยขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายเสริม ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 4 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 จำคุก 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมคืนเงินจำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้รับซื้อฝากที่ดินตามโฉนดที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินกัน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันหลอกลวงให้โจทก์ร่วมรับซื้อฝากที่ดินแปลงดังกล่าวไว้อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานคือตัวโจทก์ร่วมเองที่เบิกความยืนยันว่า ก่อนที่จะรับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 วัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายหน้าเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ร่วมไปดูที่ดินที่สำนักงานโครงการของจำเลยที่ 3 โจทก์ร่วมจึงไปดูโดยมีนางสาวพรทิพย์ไปด้วย และเมื่อไปถึง พบจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และภริยาของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้ชวนโจทก์ร่วมไปดูที่ดินซึ่งอยู่ห่างสำนักงานของจำเลยที่ 3 ประมาณ 100 เมตร โดยจำเลยทั้งสามและนางสาวพรทิพย์ไปด้วย ในข้อที่นางสาวพรทิพย์ได้ไปดูด้วยนี้ นอกจากนางสาวพรทิพย์จะเบิกความยืนยันแล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำสืบรับว่านางสาวพรทิพย์ได้ไปดูที่ดินด้วย เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมและนางสาวพรทิพย์ได้ไปดูที่ดินด้วยกัน โจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ชี้ให้ดูบ้านและที่ดินแปลงที่จะขายฝากซึ่งโจทก์ร่วมก็ได้เข้าไปดูพบว่าบ้านที่จะรับซื้อฝากเป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวมีต้นไม้ปลูกอยู่ในที่ดิน จำเลยที่ 2 เป็นคนพูดว่าจะขายฝาก 400,000 บาท แม้นางสาวพรทิพย์พยานอีกปากหนึ่งของโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งไปดูที่ดินด้วยจะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า พบจำเลยที่ 1 เป็นครั้งแรกในวันจดทะเบียนซื้อฝาก ทั้ง ๆ ที่ตอนเบิกความตอบคำถามของโจทก์นางสาวพรทิพย์ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปดูที่ดินด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจถือว่าขัดแย้งหรือแตกต่างกับคำให้การพยานของโจทก์ร่วมอันจะทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมเสียไปแต่อย่างใด เพราะเท่ากับว่าลำพังคำเบิกความของนางสาวพรทิพย์ทำให้น่าสงสัยว่านางสาวพรทิพย์เองได้พบจำเลยที่ 1 ในขณะที่ไปดูที่ดินกับโจทก์ร่วมหรือไม่เท่านั้น มิได้ยืนยันลงไปว่าไม่ได้พบ ทั้งโจทก์ร่วมมีอาชีพทางรับซื้อฝากเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องตรวจดูทรัพย์สินที่จะรับซื้อฝากด้วยความระมัดระวังตามสมควร ในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน ข้อ 3 ก็ระบุว่า ขายฝากพร้อมทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียวหนึ่งคูหา ขนาด 4 x 10 เมตร ไม่มีเลขที่ ชั้นจับกุม จำเลยที่ 3 ก็รับสารภาพ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ ที่ 3 ได้ชี้ให้โจทก์ร่วมดูบ้านและที่ดินคนละแปลงกับที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากที่ดินจริง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอาชีพเป็นนายหน้าชักชวนโจทก์ร่วมมารับซื้อฝากโดยพฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วย ลักษณะเป็นตัวการร่วมกันแต่แบ่งงานกันทำ เมื่อความจริงปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ร่วมรับซื้อฝากไว้เป็นคนละแปลงกับที่จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ ทั้งไม่มีทาวน์เฮ้าส์ปลูกอยู่ จำเลยทั้งสามก็ต้องมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามไม่อาจรับฟังหักล้างได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมรับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมเช่นนี้ นิติกรรมการขายฝากย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 คู่กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันคืนเงินที่รับซื้อฝากไว้ให้แก่โจทก์ร่วม ก็ต่อเมื่อโจทก์ร่วมต้องคืนที่ดินที่รับซื้อฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้เสนอที่จะคืนที่ดินดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบก็ไม่ได้ความชัดเจนว่า โจทก์ร่วมได้ชำระเงินค่าที่ดินที่ซื้อฝากไปเท่าใด จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์ร่วมได้ ชอบที่โจทก์ร่วมจะต้องไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่อไป คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share