คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้กรมศุลกากรโจทก์ทำให้หนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มระงับลงบางส่วน แม้ธนาคารจะรับช่วงสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 693 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229 (3) แต่เมื่อเงินที่ธนาคารชำระยังไม่คุ้มค่าอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาดจากจำเลยในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นได้
โจทก์เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันล่าช้า แต่เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาตรา 19 ตรี มิได้กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันการไม่ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มของผู้นำเข้าตามมาตรา 19 ทวิ จึงมึอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล โดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่น จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 จำเลยสั่งและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (วัตถุดิบ) ประเภทแถบพลาสติก แป้งสาลี ถ้วยโฟม และฝาถ้วยทำจากพลาสติก จำนวนทั้งสิ้น 47 ใบขน เพื่อผลิตส่งออกโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อใช้สิทธิขอคืนอากรพร้อมทั้งได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการชำระค่าอากรต่อโจทก์ หลังจากจำเลยได้รับสินค้าไปแล้ว เมื่อครบกำหนด 1 ปีนับแต่วันนำเข้า จำเลยนำสินค้ามาผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศเพียงบางส่วน สินค้าที่เหลือจึงเป็นสินค้าที่มิได้ผลิตและส่งออกภายใน 1 ปีนับแต่วันนำเข้า เป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้นำเงินมาชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงแจ้งให้ธนาคารผู้ค้ำประกันรับผิดชำระเงินแทน ธนาคารผู้ค้ำประกันได้จัดการชำระเงินแล้วและพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์นำไปหักชำระค่าภาษีอากรได้บางส่วน คงเหลือหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มคิดคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยต้องรับผิดชำระทั้งสิ้น 880,128.09 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 880,128.09 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0111 0069 0262 ที่จำเลยค้างชำระจำนวน 49,606 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์แทนจำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบตามใบขนสินค้าทั้ง 47 ฉบับพร้อมกัน และสินค้าบางรายการได้ประสบอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ทำให้ไม่สามารถผลิตเพื่อส่งออกภายในระยะเวลาที่กำหนด กรณีเป็นเหตุสุดวิสัย ราคาที่สำแดงในใบขนสินค้าบางรายการมีราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าอากรเพิ่มจากจำเลย โจทก์ตรวจปล่อยสินค้าล่าช้าทำให้จำเลยไม่อาจกำหนดการผลิตเพื่อส่งออกได้ กับทั้งปล่อยปละละเลยไม่เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรตามหนังสือค้ำประกัน และไม่เคยแจ้งให้จำเลยไปชำระค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาด จำเลยไม่จำต้องชำระค่าอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอากรจำนวน 49,606 บาท และเงินเพิ่ม 787,860.47 บาทแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0111 0069 0262 ที่จำเลยค้างชำระจำนวน 49,606 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 จำเลยได้นำสินค้าวัตถุดิบประเภท แถบพลาสติก แป้งสาลี ถ้วยโฟม และฝาถ้วยทำจากพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 ถึง 62 และแสดงความจำนงต่อโจทก์ว่า ของที่นำเข้าจะใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 โจทก์อนุญาตโดยให้จำเลยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด แทนการชำระค่าอากร ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตด้วยของที่นำเข้าไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิตเข้ามาในราชอาณาจักร โจทก์จึงเรียกเก็บค่าอากรและเงินเพิ่มสำหรับของที่จำเลยนำเข้าดังกล่าวจากธนาคารผู้ค้ำประกันตามจำนวนที่ระบุในหนังสือค้ำประกัน แต่ยังไม่คุ้มค่าอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระ
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยมีว่า การที่โจทก์เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาดจากจำเลยได้หรือไม่เห็นว่า แม้ธนาคารผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 229 (3) แต่เมื่อเงินที่ชำระมาแล้วยังไม่คุ้มค่าอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาดจากจำเลยในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นได้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยมีว่า การที่โจทก์เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันล่าช้าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันล่าช้า แต่เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาตรา 19 ตรี มิได้กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันการไม่ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มของผู้นำเข้าตาม มาตรา 19 ทวิ การใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 เมื่อโจทก์เรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ส่งออกเมื่อครบ 1 ปีนับแต่วันนำเข้าจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยมีว่า การที่จำเลยไม่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาตรา 19 ทวิ และมาตรา19 ตรี ผู้นำเข้ามีสิทธิได้รับคืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและผลิตหรือผสมหรือประกอบแล้วส่งออกไปภายใน 1 ปีนับแต่วันนำเข้า และถ้าเป็นกรณีมีการค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้าก็จะมีการคืนประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าของที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรมิได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบแล้วส่งออกไปภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าจำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินอากรและต้องรับผิดชำระค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาด ข้ออ้างที่ว่าจำเลยไม่อาจผลิต ผสม หรือประกอบและส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบไม่ถูกต้องหลายรายการ หรือต้องรอการนำเข้าจากต่างประเทศ หรือวัตถุดิบเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือวัตถุดิบถูกเพลิงไหม้นั้น จำเลยมิได้นำสืบแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า วัตถุดิบที่นำเข้ารายการใดบ้างที่นำเข้าไม่ถูกต้อง หรือต้องรอการนำเข้าจากต่างประเทศหรือเสียหายระหว่างการขนส่ง หรือถูกเพลิงไหม้ ฉะนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มส่วนที่ขาด
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า เงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ต้องคำนวณจากจำนวนเงิน 49,606 บาท หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลย จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share