คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ(ศูนย์กนช.กอ.รมน.)ยินยอมให้จำเลยที่1นำชื่อกลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์และเครื่องหมายราชการไปใช้ได้ในขณะเปิดที่ทำการของจำเลยที่1ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองขณะนั้นจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองนำชื่อดังกล่าวไปใช้ทำให้โจทก์เสียหายโจทก์ย่อมยกเลิกความยินยอมนั้นเสียเมื่อใดก็ได้เมื่อโจทก์ยกเลิกแล้วจำเลยทั้งสองก็ไม่อาจจะใช้ชื่อและเครื่องหมายดังกล่าวได้อีกต่อไปดังนี้การที่โจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองยังคงใช้ชื่อ”กลุ่มสมาชิกกนช.”เป็นชื่อของจำเลยที1และยังคงนำเอาเครื่องหมายราชการรูปคันไถเปลวเพลิงดาบปลายปืนล้อมรอบด้วยสามเหลี่ยมและวงกลมของศูนย์กนช.กอ.รมน.ดังกล่าวซึ่งเป็นของโจทก์ไปติดไว้ที่ป้ายชื่อที่ทำการของจำเลยที่1ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต่อไปอีกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการแอบอ้างอาศัยชื่อหน่วยงานของโจทก์ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการของตนและเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไปและหน่วยราชการต่างๆให้เกิดความเข้าใจผิดว่าศูนย์ดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการค้าด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของจำเลยที่1เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา423 โจทก์เป็นส่วนราชการมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการค้าโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์เสียหายศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา438แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์และเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองก็ยังคงใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการดังกล่าวโดยนำไปติดไว้ที่ป้ายชื่อที่ทำการของจำเลยที่1ต่อมาโจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิอยู่ตลอดเวลาแม้ขณะยื่นคำฟ้องการกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมาคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ การละเมิดชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นบทบัญญัติมาตรา423และ447แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่การนั้นและศาลอาจสั่งให้ผู้กระทำละเมิดจัดการตามควรเพื่อให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีเท่านั้นที่โจทก์ขอให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1เป็นกรณีที่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ให้ความคุ้มครองไว้ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ถอนคำขอดังกล่าวได้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์จำเลยที่1และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงไม่ชอบศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 2จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า”ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์” มีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการนำเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยวทุกชนิด ซึ่งเป็นการนำอักษรย่อที่โจทก์ตั้งขึ้นไปใช้ประกอบนามและเลียนแบบ อีกทั้งยังนำไปใช้โฆษณากิจการค้าด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของตนอันเป็นเท็จ เพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไปและหน่วยราชการต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศูนย์ กนช.กอ.รมน.) ของโจทก์มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจและอิทธิพลต่อหน่วยราชการต่าง ๆ ให้สามารถจัดหางานทำในบริเวณท่าอากาศยานได้โดยผู้ประสงค์จะทำงานดังกล่าวจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อนำไปช่วยเหลือในโครงการ กนช.ของโจทก์ นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเครื่องหมายราชการของศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ ซึ่งเป็นภาพเครื่องหมายราชการที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ไปใช้แสดงโฆษณาในกิจการค้าของจำเลยที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่หาดใหญ่ภูเก็ต และสำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิและฝ่าฝืนต่อกฎหมายการที่จำเลยทั้งสองนำชื่อ “กนช.” ไปจดทะเบียนระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยที่ 1 และนำเครื่องหมายราชการของโจทก์ไปใช้โฆษณาเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต มีเจตนาที่จะแอบอ้างอาศัยชื่อหน่วยงานของโจทก์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการของตนหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ทำให้ประชาชนและหน่วยราชการหลายแห่งหลงเชื่อว่ากิจการธุรกิจท่องเที่ยวของจำเลยทั้งสองโจทก์เป็นผู้สนับสนุนเป็นการใช้สิทธิที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิเข้าทำสัญญาเช่าสถานที่ในท่าอากาศยาน 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ หากใหญ่ และภูเก็ตจำเลยทั้งสองได้รับประโยชน์จากการเช่าอาคาร 3 แห่ง โดยประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่ม สมาชิกกนช.มัคคุเทศก์” มีกำไรเท่าอากาศยานแห่งละ 50,000 บาท ต่อเดือนรวม 3 แห่ง เป็นเงินกำไร 150,000 บาท ต่อเดือน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายโดยต้องขาดประโยชน์จากรายได้ดังกล่าวเป็นเงินเดือนละ 150,000 บาท จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2529 ติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา2 ปี 6 เดือน คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 4,500,000 บาท ขอให้เพิกถอนชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์”ออกจากทะเบียนนิติบุคคลและห้ามนำชื่อ “กนช.” และเครื่องหมายราชการของโจทก์ไปใช้เรียกขานในกิจการค้าของจำเลยอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1เป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติชื่อ กลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์ ซึ่งศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติเป็นผู้จัดอบรมทางด้านมัคคุเทศก์ให้ หลังจากอบรมเสร็จแล้วศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติขอความร่วมมือจากกรมการบินพาณิชย์เพื่ออนุญาตให้กลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์เข้าปฏิบัติงานที่ท่าอากาศเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต วันที่23 มิถุนายน 2529 กรมการบินพาณิชย์แจ้งให้ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติทราบว่า กรมธนารักษ์ไม่ขัดข้องที่จะให้กลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์เช่าสถานที่ ณ ท่าอากาศยานทั้งสามแห่งโดยไม่ต้องประมูล แต่มีเงื่อนไขว่า กลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อน ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติจึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่8 สิงหาคม 2529 ดังนั้น การใช้ชื่อห้างจำเลยที่ 1 จึงได้รับความรู้เห็นยินยอมแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 จดทะเบียนต่อสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องตามกฎหมายการกระทำของจำเลยทั้งสองหาเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใดไม่ การใช้ชื่อห้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต โจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า จึงไม่ใช่ผู้ที่จะอ้างว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายเป็นเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากโจทก์จะเสียผลประโยชน์ก็ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาทต่อแห่ง โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2529 เมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 1 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์จำเลยที่ 1 และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้ชื่อ “กนช.” และเครื่องหมายราชการของโจทก์ไปใช้เรียกขานในกิจการค้าของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์และเครื่องหมายราชการของโจทก์หรือไม่ และการใช้ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าอักษรคำว่า “กนช.” เป็นชื่อย่อของศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ และโจทก์ใช้คำว่า”กนช.” เรียกชื่อหน่วยงานของโจทก์และมีเครื่องหมายราชการเป็นรูปคันไถ เปลวเพลิง ดาบปลายปืนล้อมรอบด้วยสามเหลี่ยมและวงกลมโดยใช้แพร่หลายทั้งส่วนราชการและเอกชนมาตั้งแต่ปี 2525 อีกทั้งคำว่า “กลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์” ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติเป็นผู้ตั้งขึ้นซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วอย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือให้กลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดและให้ใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์ และในวันที่เปิดสำนักงานที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พลตรีชัยชนะ ธารีฉัตร แม่ทัพภาคที่ 3ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กนช. ภาคที่ 3 และพันเอกวีระเมฆะวิภาต ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติได้ร่วมไปในงานพิธีเปิดสำนักงานดังกล่าวด้วยตามภาพถ่ายเอกสารหมายจ.19 โดยมิได้มีผู้ใดทักท้วงการใช้ชื่อห้างจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายราชการของโจทก์แต่อย่างใด เห็นว่า จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นเชื่อได้ว่าศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำชื่อกลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์และเครื่องหมายราชการไปใช้ได้ในขณะนั้น ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองขณะนั้นจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองนำชื่อดังกล่าวไปใช้ ทำให้โจทก์เสียหายโจทก์ย่อมยกเลิกความยินยอมนั้นเสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ยกเลิกแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจจะใช้ชื่อและเครื่องหมายดังกล่าวได้อีกต่อไป ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทศักดิ์จิต ปิ่นทองคำผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า หลังจากที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ยังใช้ชื่อและเครื่องหมายการดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบปฏิเสธในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำเบิกความของพันตำรวจโทศักดิ์จิต ดังนี้ การที่โจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังคงใช้ชื่อ “กลุ่มสมาชิกกนช.” เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และยังคงนำเอาเครื่องหมายราชการรูปคันไถ เปลวเพลิง ดาบปลายปืนล้อมรอบด้วยสามเหลี่ยมและวงกลมของศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติ ซึ่งเป็นของโจทก์ไปติดไว้ที่ป้ายชื่อที่ทำการของจำเลยที่ 1 ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตามภาพถ่ายหมาย จ.19 ต่อไปอีกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการแอบอ้างอาศัยชื่อหน่วยงานของโจทก์ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการของตนและเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไปและหน่วยราชการต่าง ๆให้เกิดความเข้าใจผิดว่าศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนแห่งชาติกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งเป็นส่วนราชการของโจทก์มีส่วนร่วมในดำเนินกิจการค้าด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของจำเลยที่ 1 เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ปัญหาต่อมามีว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้รับประโยชน์จากการเช่าอาคาร 3 แห่ง โดยประกอบธุรกิจท่องเที่ยวมีกำไรท่าอากาศยานแห่งละ 50,000 บาท ต่อเดือน รวม 3 แห่ง เป็นเงินกำไร150,000 บาท ต่อเดือน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายโดยต้องขาดประโยชน์จากรายได้ดังกล่าวเป็นเงินเดือน 150,000 บาท เห็นว่าโจทก์เป็นส่วนราชการ มิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากรายได้ดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ต้องเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 25,000 บาท เห็นว่าเหมาะสมแล้วแต่ที่ศาลล่างทั้งสองคิดค่าเสียหายให้โจทก์นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม2529 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยถือว่าเป็นวันละเมิดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะวันละเมิดต้องถือวันที่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการของโจทก์ดังวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.22 ว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองทราบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2531 และให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 22 มกราคม2531 จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตามภายใน 7 วัน ปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนด 7 วันแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ดังนี้ เมื่อนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนด 7 วัน ดังกล่าวอันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นเวลา 12 เดือนเศษจึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองยกเลิกเพิกถอนการใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิกกนช.มัคคุเทศก์ และเครื่องหมายราชการของโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองก็ยังคงใช้ชื่อและเครื่องหมายราชการดังกล่าวโดยนำไปติดไว้ที่ป้ายชื่อที่ทำการของจำเลยที่ 1 ต่อมา โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิอยู่ตลอดเวลาแม้ขณะยื่นคำฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมา คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มสมาชิก กนช.มัคคุเทศก์จำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เห็นว่า การละเมิดต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น บทบัญญัติมาตรา 423 และ 447 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น และศาลอาจสั่งให้ผู้กระทำละเมิดจัดการตามควรเพื่อให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีเท่านั้น ที่โจทก์ขอให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ให้ความคุ้มครองไว้ ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ตามคำขอดังกล่าวได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share