แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมโดยจำเลยจะหาหลักประกันมาให้โจทก์ร่วมด้วย ตกลงกันว่าหากจำเลยหาหลักประกันมาให้ได้โจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อจำเลยนำที่ดินมาจำนองแก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นประกันหนี้แล้ว เท่ากับจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลง จึงถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่จำเลยได้กระทำขึ้นย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปย่อมตกไปด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทเอสแอนด์ซันส์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้เสียหาย มีหน้าที่ขายสินค้าของผู้เสียหายและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อส่งให้ผู้เสียหาย เมื่อระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา จำเลยเก็บเงินค่าสินค้าของผู้เสียหายจากลูกค้าในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเงิน 854,696.45 บาท ไว้ในครอบครอง แล้วจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ไม่ส่งมอบเข้าบัญชีของผู้เสียหายโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 854,696.45 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทเอส แอนด์ซันส์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 854,696.45 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อส่งมอบให้โจทก์ร่วม ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมหลายราย และลูกค้าดังกล่าวแต่ละรายได้สั่งจ่างเช็คชำระค่าสินค้ารวมเป็นเงิน 854,696.45 บาท จำเลยได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแล้ว แต่จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวส่งมอบให้โจทก์ร่วม ต่อมาโจทก์ร่วมทราบการกระทำของจำเลยจึงเรียกจำเลยมาเจรจาและในวันที่ 27 มกราคม 2541 จำเลยได้นำที่ดินของนายกำจร และนางสัมฤทธิ์ ญาติของจำเลยมาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ร่วมตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม 2541 โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวิบูลย์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานยักยอกทรัพย์ดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้ได้ระงับไปเพราะมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ร่วม พยานของโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อจำเลยยอมรับว่ายักยอกเงินไปจึงให้จำเลยทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้ และพยานบอกให้จำเลยหาหลักประกันโดยนำที่ดินมาจำนอง ซึ่งหากไม่หาหลักประกันมาให้โจทก์ร่วมก็จะแจ้งความดำเนินคดี วันรุ่งขึ้นจำเลยก็หาหลักประกันมาจำนองให้ได้ โดยจำเลยนำที่ดินของญาติจำเลย และญาติจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำนองที่ดินมามอบให้พยานตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2541 ทั้งนายวิบูลย์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม พยานโจทก์และโจทก์ร่วมก็เบิกความได้ความทำนองเดียวกับนายสมศักดิ์ว่า พยานไปด้วยในวันจำนองเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยหาเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม หากวันที่ 26 มกราคม 2541 จำเลยไม่หาหลักประกันมา โจทก์ร่วมก็จะแจ้งความดำเนินคดี ดังนั้นเท่ากับโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันว่าหากจำเลยหาหลักประกันมาให้โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมก็จะไม่แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ส่วนที่ร้อยตำรวจโทสุพจน์พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า พยานได้รับคำบอกเล่าจากโจทก์ร่วมว่า จำเลยตกลงยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ร่วม และขอเวลาไปหาเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม หลังจากนั้นจำเลยได้หลบหน้าโจทก์ร่วมจึงมาแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทำนองว่ามีข้อตกลงจะชำระค่าเสียหายและจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวนั้น เห็นว่า พยานปากนี้เป็นเพียงพยานบอกเล่า ทั้งพยานปากนี้ได้เบิกความต่อไปว่า โจทก์ร่วมไม่ได้แจ้งให้พยานทราบว่านายกำจรได้นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม ดังนี้ พยานโจทก์ปากนี้จึงไม่ได้รู้เห็นการตกลงยอมความระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยดังกล่าวข้างต้น ทั้งการตกลงยอมความกันดังกล่าวต้องพิจารณาข้อตกลงของนายสมศักดิ์กับจำเลยเป็นสำคัญเพราะนายสมศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม และตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ในขั้นตอนนี้ก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้ตกลงให้มีเงื่อนไขในการยอมความว่าจำเลยต้องชำระเงินที่ยักยอกก่อนหรือต้องนำที่ดินของจำเลยมาจดทะเบียนจำนองแทนที่ดินของญาติแล้วโจทก์ร่วมจะไม่แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแต่อย่างใด ส่วนที่นายสมศักดิ์เบิกความว่า ต่อมาญาติของจำเลยได้ติดต่อว่าจะให้จำเลยนำที่ดินของจำเลยที่จังหวัดลำพูนมาจำนองแทนและที่จำเลยให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ.12 ว่าต่อมาจำเลยตั้งใจว่าจะนำโฉนดอีกแปลงหนึ่งมาขอเปลี่ยนจำนองกับโจทก์ร่วม เนื่องจากโฉนดฉบับแรกไม่ใช่ของจำเลยนั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการตกลงยอมความกันดังกล่าวแล้ว กรณีนี้จึงมิใช่เงื่อนไขของการยอมความกันดังโจทก์ร่วมฎีกา ประกอบกับในข้อนี้จำเลยได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยกับนายสมศักด์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินของนายกำจรให้แล้ว โจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จากนั้นจำเลยก็นำนายกำจรและนางสัมฤทธิ์ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินให้โจทก์ร่วม และที่จำเลยรีบขวนขวายหาหลักประกันมาจำนองแก่โจทก์ร่วมตามที่โจทก์ร่วมเสนอ ก็น่าจะเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตามที่โจทก์ร่วมตกลง ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมยังให้จำเลยหาหลักประกันมาให้โจทก์ร่วมด้วย โดยโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันว่าหากจำเลยหาหลักประกันมาให้ได้โจทก์ร่วมก็จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยโดยไม่มีเงื่อนไขอื่นดังโจทก์ร่วมฎีกาอีก เมื่อจำเลยนำที่ดินมาจำนองแก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวแล้ว เท่ากับจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลง จึงถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่จำเลยได้กระทำขึ้นย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปย่อมตกไปด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไปเพียงใดอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ