คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6944/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าสัญญาเช่าซื้อระงับแล้วตั้งแต่วันที่จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 17 เนื่องจากโจทก์แจ้งว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยได้เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับบริษัท พ. โดยจำเลยมิได้ให้การว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากโจทก์ไม่ต่อทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยทำให้จำเลยไม่สามารถนำรถยนต์ออกใช้ได้ตามทางนำสืบของจำเลยแต่ประการใด ทางนำสืบของจำเลยจึงนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยแม้ศาลล่างทั้งสองจะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโอเปิล หมายเลขเครื่อง ซี 20 เอ็กซ์อี – 14164643 ไปจากโจทก์ในราคา 1,828,800 บาท ไม่มีเงินดาวน์ ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวดงวดละ 38,100 บาท ต่อเดือน งวดแรกชำระในวันที่ 7 มีนาคม 2537งวดต่อไปชำระในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 16 งวดเป็นเงิน 609,600 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 17 ถึงงวดที่ 42 เป็นเงิน990,600 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างพร้อมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ แต่รถยนต์เสื่อมสภาพจากการใช้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้อีกเป็นเงิน 228,600 บาท ซึ่งเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 43 ถึงงวดที่ 48 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์และให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเป็นเงิน 990,600 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 228,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองระงับแล้วตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 17 เนื่องจากโจทก์แจ้งแก่จำเลยทั้งสองว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยทั้งสองได้ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับบริษัทพระนครยนตการ จำกัด จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,300บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1กันยายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 350,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2540) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2537 จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโอเปิล หมายเลขเครื่อง ซี 20 เอ็กซ์อี – 14164643 จากโจทก์ในราคา1,828,800 บาท ชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 38,100 บาท ต่อเดือนเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 7 มีนาคม 2537 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.6 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 16 งวด เป็นเงิน609,600 บาท และจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีก ต่อมาวันที่ 22พฤษภาคม 2541 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่จดทะเบียนรถยนต์ให้ ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้งานได้จำเลยทั้งสองจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองระงับแล้วตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 17 เนื่องจากโจทก์แจ้งแก่จำเลยทั้งสองว่าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยทั้งสองได้ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับบริษัทพระนครยนตการจำกัด จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้ว โดยจำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากโจทก์ไม่ต่อทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสอง ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกใช้ได้ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองแต่ประการใด ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จึงนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยทั้งสองแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 16 งวด เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคาจากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อมีเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ใหม่ เมื่อผิดสัญญาจำเลยทั้งสองย่อมหาประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ต้องใช้เวลานานในการติดตามยึดรถยนต์คืนรถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพจากการใช้ ค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นเงิน 100,000 บาท จึงเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสม ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสุพจน์ น้อยมาลา พยานโจทก์ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อโจทก์ยึดคืนมาแล้วยังไม่ได้ขายให้แก่บุคคลอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เดือนละ 6,000 บาท รวมเป็นเงิน 186,000 บาท และค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 50,000 บาท เป็นการวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงในขณะฟ้อง และเป็นความเสียหายในอนาคตที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ทั้งไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นความเสียหายดังกล่าวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยไม่ยอมส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าวตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองยังคงครอบครองอยู่ แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าเคยนำรถยนต์ยี่ห้อและชนิดเดียวกันออกให้บุคคลอื่นเช่าเดือนละเท่าใดมาก่อนก็ตามศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพความเสียหายได้ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท รวมเป็นเงิน186,000 บาท นั้น นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าเสื่อมราคาจากการใช้รถยนต์นั้น เห็นว่า แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อขณะเช่าซื้อจะเป็นรถใหม่ก็ตาม แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าเมื่อยึดรถยนต์ดังกล่าวมาแล้วเสื่อมสภาพอย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าได้มีการซ่อมแซมรถยนต์พิพาทแล้วแต่ยังไม่เสร็จเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดว่าซ่อมแซมอะไรบ้าง ซึ่งแม้ค่าเสียหายในส่วนนี้จะไม่อาจกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ แต่ก็เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วมิใช่ค่าเสียหายในอนาคตตามที่จำเลยทั้งสองอ้างแต่อย่างใด และศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ 50,000 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share