คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์หรือไปชำระค่าปรับ จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดี หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตนำสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าวไปชำระค่าปรับในชั้นอุทธรณ์ จึงล่วงเลยเวลาไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้สัญญากู้เงิน เป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ได้
อย่างไรก็ตามในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินไว้ด้วย โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำนอง ซึ่งถือเป็นหลักฐานในการกู้เงินนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังได้ ทั้งดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาจำนองมิใช่ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่จะนำมาใช้บังคับได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และเนื่องจากหนี้การกู้เงินดังกล่าวเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ก็ให้การปรับลดดอกเบี้ยมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้เงิน 13,185,235.82 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 8,871,192.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 20,804.71 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 13,185,235.82 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 8,871,192.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 20,804.71 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ 16 กันยายน 2542) หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 57514, 57515, 57516 ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ระหว่างไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอนาถาในชั้นอุทธรณ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยของเงินค่าประกันอัคคีภัยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น ให้คิดจากต้นเงิน 20,728.04 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินมีอากรแสตมป์ที่ยังไม่ได้ขีดฆ่าด้านหน้า 2 ดวง ด้านหลัง 9 ดวงอากรแสตมป์ที่ยังไม่ได้ขีดฆ่าด้านหลัง 9 ดวงดังกล่าว โจทก์ขออนุญาตรับสัญญากู้เงินจากศาลชั้นต้นเพื่อนำไปชำระค่าปรับเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์แล้ว เนื่องจากการขออนุญาตนำตราสารไปปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์หรือไปชำระค่าปรับ จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำตราสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดี หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะชี้ขาดตัดสินคดี การที่โจทก์ขออนุญาตนำสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ดังกล่าวไปชำระค่าปรับในชั้นอุทธรณ์ จึงล่วงเลยเวลาไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้สัญญากู้เงินเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์ที่ขอนำสัญญากู้เงินไปขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้แก่จำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่
อย่างไรก็ตามในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินไว้ด้วยตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาจำนองเป็นประกัน โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จำนอง ซึ่งถือเป็นหลักฐานในการกู้เงินนี้ได้ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังได้ ทั้งดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาจำนองมิใช่ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่จะนำมาใช้บังคับได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และเนื่องจากหนี้การกู้เงินดังกล่าวเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ก็ให้การปรับลดดอกเบี้ยมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245 (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 9,772,579.68 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 6,884,295.18 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2542 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงิน 1,986,896.89 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 กันยายน 2542) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 20,728.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share