คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยมีสิทธิที่จะบอกเลิกการจ้างต่อโจทก์ได้ซึ่งจำเลยก็ได้บอกกล่าวต่อโจทก์เป็นหนังสือแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต่อโจทก์นั้นคดีนี้ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้ระบุว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนเรื่องใดและจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าหลังจากมีหนังสือเตือนแล้วโจทก์ยังได้กระทำผิดซ้ำในเรื่องที่มีหนังสือเตือนอีกข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งได้เตือนเป็นหนังสือแล้วและฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณดังนี้เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยคงกล่าวอ้างเพียงว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยโดยไม่ได้คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดซ้ำในเรื่องที่มีหนังสือเตือนแล้วและโจทก์ไม่ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์อย่างไรหรือไม่อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2535 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ กล่าวคือ โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ปฏิบัติในเรื่องตัดตัวเลขสินค้าเรื่องการทำรายงานเช็คค้างจ่ายและส่งมอบเช็คที่อนุมัติเรียบร้อยแล้วเรื่องการทำรายชื่อลูกค้าที่ค้างชำระค่างวด เรื่องการทำเช็คด้วยเครื่องพิมพ์ดีด และเรื่องการจัดการบิลค่าโทรศัพท์ จำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้วแต่โจทก์ก็ยังขัดคำสั่ง ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยตลอดมา จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
เดิมศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน51,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 18สิงหาคม 2535 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ17,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาวันที่30 มีนาคม 2537 จำเลยมีหนังสือให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 คำสั่งเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.9 ไม่ได้ระบุว่า โจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนเรื่องใด จากเอกสารของจำเลยก็รับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์ปฏิบัติงานในเรื่องต่าง ๆ และเอกสารบางฉบับเท่านั้นที่มีลักษณะเป็นหนังสือเตือน ได้แก่หนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2537 เตือนเรื่องการตัดตัวเลขสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 หนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2537 เตือนเรื่องการจัดทำรายชื่อลูกค้าที่ค้างชำระค่างวดหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม2537 เตือนเรื่องการฉีกหนังสือคำสั่งของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.6หนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2537 เตือนเรื่องการทำเช็คโดยใช้วิธีพิมพ์ดีดและการไม่ยอมรับทราบคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.7 แต่จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หลังจากมีหนังสือเตือนแล้วโจทก์ยังได้กระทำผิดซ้ำในเรื่องที่มีหนังสือเตือนอีก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว และฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จังไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย51,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิที่จะบอกเลิกการจ้างต่อโจทก์ได้ซึ่งจำเลยก็ได้บอกกล่าวต่อโจทก์เป็นหนังสือตามหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 30 มีนาคม 2537 แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้าต่อโจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.9ไม่ได้ระบุว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนเรื่องใด และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าหลังจากมีหนังสือเตือนแล้ว โจทก์ยังได้กระทำผิดซ้ำในเรื่องที่มีหนังสือเตือนอีกข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งได้เตือนเป็นหนังสือแล้วและฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ แต่อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้วคงกล่าวอ้างเพียงว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยไม่ได้คัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดซ้ำในเรื่องที่มีหนังสือเตือนแล้ว และโจทก์ไม่ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์อย่างไรหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย

Share