แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บิดามารดาทอดทิ้งผู้เสียหายไปโดยไม่ทราบว่าบิดามารดาผู้เสียหายไปอยู่ที่แห่งใดส่วนจำเลยและภรรยาเป็นเพียงผู้รับผู้เสียหายมาอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาอำนาจปกครองผู้เสียหายจึงยังตกอยู่แก่บิดามารดาผู้เสียหายผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยและภรรยาการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจะปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา285ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิงจิตนา ศรีวิลัยผู้เสียหายอายุ 11 ปี ซึ่งเป็นผู้อยู่ในความปกครองของจำเลย และมิใช่ภรรยาของจำเลยจนสำเร็จความใคร่หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกันรวม 55 ครั้ง (ตั้งแต่ผู้เสียหายอายุ 8 ปี จนถึงอายุ 11 ปี)คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง และเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยงคืนจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย 1 ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227วรรคสอง, 285, 91
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดเฉพาะการกระทำในวันที่ 4 มกราคม 2535 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 285 ให้จำเลยจำคุก 10 ปี9 เดือนจำเลยรับสภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 คงจำคุกจำเลย 7 ปี 2 เดือน ความผิดนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเด็กหญิงจินตนา ศรีวิลัย ผู้เสียหาย อายุ 11 ปี อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลยและนางสาวสุกัญญา เจริญสาย ภรรยาจำเลย ซึ่งขอผู้เสียหายมาเลี้ยงดูให้การศึกษาเยี่ยงบุตรเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วันที่ 5 มกราคม 2535 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้เสียหายได้หลบหนีออกจากบ้าน และนางสาวสุกัญญาได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกาคนขับรถแท็กซี่ได้นำผู้เสียหายไปมอบให้สิบตำรวจเอกจักรินโจณสิทธิ สิบตำรวจเอกจักรินจึงได้นำผู้เสียหายไปมอบให้ร้อยตำรวจเองพันธศักดิ์ ค้าดี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจดังกล่าวร้อยตำรวจเอกพันธศักดิ์สอบถามผู้เสียหายแล้วได้ความตรงกับที่นางสาวสุกัญญาแจ้งความไว้ จึงได้แจ้งให้นางสาวสุกัญญาทราบเมื่อวันที่ 5 นางสาวสุกัญญาและจำเลยได้พากันไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวพบกับผู้เสียหาย ร้อยตำรวจเอกพันธศักดิ์จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ากระทำชำเราผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้พยายามกระทำชำเราผู้เสียหายจริง แต่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อผู้อยู่ในความปกครองซึ่งต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสอง หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายมีบิดามารดา แม้บิดามารดาทอดทิ้งผู้เสียหายไปโดยไม่ทราบว่าบิดามารดาผู้เสียหายไปอยู่ที่แห่งใด ส่วนจำเลยและภรรยาเป็นผู้รับผู้เสียหายมาอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา จึงฟังได้ว่าอำนาจปกครองผู้เสียหายยังคงตกอยู่แก่บิดามารดาผู้เสียหายผู้เสียหายจึงไม่ได้อยู่ในความปกครองของจำเลยและภรรยาดังที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยจะปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 หาได้ไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุกจำเลย 7 ปี6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลย 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์