แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทิ้งฟ้องตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 174 นั้น ย่อมนำมาใช้บังคับแก่การทิ้งอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม
(อ้างฎีกาที่ 679/2490)
ในกรณีที่โจทก์ทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 นั้น ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตามมาตรา 132 แต่บทมาตรา 132 นี้ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีเป็นแต่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ถ้าศาลไม่สั่งให้จำหน่ายคดีกรณีก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตามมาตรา 133
(อ้างคำสั่งคำร้องที่ 57/2493)
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วนำเจ้าพนักงานไปส่งหมายนัดแก้อุทธรณ์ให้โจทก์เกินกำหนด 15 วันไป 1 วันนั้นศาลอาจเห็นว่า เป็นพฤติการณ์ที่ยังไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีของจำเลยได้
ย่อยาว
จำเลยที่ ๒ ยื่นฟ้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่ง ๆ สั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง ต่อมาโจทก์ยืนคำร้องว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ เพราะไม่ได้ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อส่งหมายและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้โจทก์ภายในกำหนด ๑๕ วัน ทางไต่สวนได้ความว่า ฝ่ายจำเลยไปนำเจ้าพนักงานกองหมายส่งหมายนัดแก้อุทธรณ์ให้แก่ทนายโจทก์เกิน ๑๕ วันไปวันหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๗๔(๑) แห่ง ป.ม.วิ.แพ่ง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
จำเลยที่ ๒ ฎีกา อ้างฎีกาที่ ๒๓๗/๒๔๙๑
ศาลฎีกาเห็นว่า การทิ้งฟ้องตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๑๗๔ นั้น ย่อมนำมาใช้บังคับแก่การทิ้งฟ้องได้โดยอนุโลม ดังที่ศาลฎีกาได้พิพากษาเป็นแบบอย่างไว้แล้วตามฎีกาที่ ๖๗๙/๒๔๙๐
คดีนี้จำเลยนำเจ้าพนักงานส่งหมายนัดแก้อุทธรณ์ให้โจทก์ เกินกำหนด ๑๕ วันไปวันหนึ่ง แม้จะถือว่าเป็นการทิ้งฟ้อง ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตามมาตรา ๑๓๒ ก็ตาม แต่บทมาตรา ๑๓๒ นี้ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีเป็นแต่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ถ้าศาลไม่สั่งจำหน่ายคดี กรณีก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตามมาตรา ๑๓๓ ตามคำสั่งคำร้องฎีกาที่ ๕๓/๒๔๙๓ ศาลฎีกาเห็นว่า พฤตติการณ์ที่ได้ความในคดีนี้ยังไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีของจำเลย
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำหน่ายคดีนี้เสียให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไป