คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5821/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ การที่จำเลยใช้รถของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดการพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงมิได้หมายความว่าจำเลยได้ใช้รถของกลางเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งของการลักทรัพย์ รถของกลาง จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเอาเงินซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์และธนบัตรรัฐบาลไทยชนิดและขนาดต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 17,000 บาท ของนางสาวประคอง นาคสุข ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ที่จำเลยใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ และริบของกลางกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 17,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1), (11) วรรคสอง, 336 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท จึงให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาทให้แก่ผู้เสียหายจนไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย และผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใดเพิ่มเติมจากจำเลยอีก ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 และรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ทั้งตามรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะและมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จำนวน 1 คน แต่เพียงลำพัง อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรปรานีจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วยนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมอันเป็นการบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดด้วยไม่ การที่จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดการพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ก็มิได้หมายความว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง และไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นอกจากนี้เมื่อผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจนไม่ประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใดเพิ่มเติมจากจำเลยอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายอีกต่อไป จึงเห็นสมควรยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานี้ให้จำเลยฟัง ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางแต่ให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,000บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share