คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6881/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสงขลาขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 7ศาลแรงงานกลางจึงมีเขตอำนาจในท้องที่จังหวัดสงขลาด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 60 ซึ่งตามมาตรา 60 นี้บัญญัติว่า เมื่อศาลแรงงานกลาง (สงขลา) สั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้วให้ศาลแรงงานกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น ศาลแรงงานกลาง (สงขลา) จึงเป็นศาลแรงงานกลางที่ออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาที่จังหวัดสงขลาดังนั้น ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาต่อศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่จำต้องอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างจำนวน 117,062 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ในวันนัดพิจารณา ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอเลื่อนการพิจารณา อ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองติดว่าความที่ศาลแขวงปทุมวันซึ่งได้นัดไว้ก่อนที่จะรับแก้ต่างให้จำเลยทั้งสอง ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องดังกล่าวว่าคดีนี้ศาลนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ณ ศาลแรงงานกลาง (สงขลา) ในวันนี้ ดังนั้นการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงต้องยื่น ณ ศาลแรงงานกลาง (สงขลา) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำการพิจารณาคดีอยู่ หากจะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีที่ศาลแรงงานกลางซึ่งมิใช่สถานที่ที่ทำการพิจารณาคดีจะต้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถไปยื่นคำร้อง ณ ศาลแรงงานกลาง(สงขลา) ได้ แต่คำร้องนี้ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าว จึงให้ยกคำร้อง และในวันนั้นเองศาลแรงงานกลาง (สงขลา) มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด ให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เนื่องจากยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสงขลาขึ้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ศาลแรงงานกลางจึงมีเขตอำนาจในท้องที่จังหวัดสงขลาด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 60 ซึ่งบัญญัติว่า ในระหว่างที่ศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลแรงงานกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลแรงงานกลาง เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้วให้ศาลแรงงานกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น ศาลแรงงานกลาง (สงขลา) จึงเป็นศาลแรงงานกลางที่ออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาที่จังหวัดสงขลานั่นเอง ทนายจำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาต่อศาลแรงงานกลางได้ โดยไม่จำต้องอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 10 ที่ศาลแรงงานสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ที่ให้ยกคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาของจำเลยทั้งสอง และยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง (สงขลา) ให้ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาของจำเลยทั้งสองใหม่แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share