คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 17,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับถึงวันฟ้องรวมเป็นดอกเบี้ย 1,271,458 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 18,271,458 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 ธันวาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมมีกรรมการ 2 คน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทน โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเหลือเพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม 2553 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดสี่มุมเมือง – รังสิต ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงิน 10,000,000 บาท และฉบับที่สองสั่งจ่ายเงิน 7,000,000 บาท อันเป็นเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืม โดยในการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็คและบัญชีกระแสรายวันที่ใช้เช็ค กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดสี่มุมเมือง – รังสิต ครั้นเมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาเจ-อเวนิว ทองหล่อ เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย” ในส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างไรก็ตามขณะที่ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยที่ 1 มีกรรมการ 2 คน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เหลือเพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เช่นกัน การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็คและบัญชีกระแสรายวันที่ใช้เช็ค กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดสี่มุมเมือง – รังสิต ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วยและต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์กับนายวินเดอร์ร่วมกับจำเลยที่ 1 จัดตั้งห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการค้าแร่และแบ่งผลกำไรกัน โดยโจทก์ตกลงร่วมหุ้น 17,000,000 บาท แต่ชำระค่าหุ้นเพียง 13,000,000 บาท อีก 3,000,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ตกลงรับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับเงิน 1,000,000 บาท นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 18,271,458 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 ธันวาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share