คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้บุคคลจะมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 31 และที่โจทก์ไม่ยินยอมให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นสิทธิของโจทก์ก็ตาม แต่การที่ศาลแรงงานอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ยอมให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจซึ่งเป็นพิรุธ มาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าโจทก์มิได้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบบิสซิโนซีสนั้นเป็นการรับฟังพยานหลักฐานของศาล มิใช่ศาลแรงงานปฏิเสธสิทธิที่โจทก์มีตามรัฐธรรมนูญ
พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 42 ให้อำนาจคณะกรรมการสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องส่งเอกสารมาให้ มิใช่บังคับให้คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องสั่งเรียกเอกสารเสมอไป เมื่อโจทก์ยืนยันไม่ยอมส่งประวัติและผลการตรวจของ แพทย์หญิง อ. ให้แก่สำนักงานประกันสังคม จึงไม่มีเหตุที่คณะกรรมการจะต้องออกคำสั่งเรียกให้ส่งเอกสารก่อนการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม และให้กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ได้ตรวจวิเคราะห์สภาพแวดล้อมการทำงานของโจทก์ในโรงงานบริษัทเหรียญไทย เท็กซ์ไทล์ อินดัสเตรียล จำกัด แล้ว ผลการวิเคราะห์ไม่พบว่ามีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยและได้มีหนังสือขอให้ส่งเวชระเบียนและเอกสาร ไปประกอบการวินิจฉัย แต่โจทก์และโรงพยาบาลราชวิถีกลับยืนยันไม่ส่งเอกสารดังกล่าวให้ เมื่อทนายจำเลยทั้งสามขอให้โจทก์ไปให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วส่งผลการตรวจให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมพิจารณาและมีคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง แต่โจทก์แถลงไม่ยินยอมไปให้คณะแพทย์ดังกล่าวตรวจ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมีเหตุให้สงสัยในพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามมีน้ำหนักกว่า ฟังได้ว่าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ดำเนินการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นอนินทรีย์และ โรคบิสซิโนซีสจากการทำงาน ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมและ มติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า แม้บุคคลจะมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๑ และการที่โจทก์ไม่ยินยอมให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจ ที่โรงพยาบาลศิริราชจะเป็นสิทธิของโจทก์ก็ตามแต่การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ยินยอมให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจร่างกายว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบบิสซิโนซีสจากการทำงาน เป็นการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตนั้น เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางโดยอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ยอมให้แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญตรวจซึ่งเป็นพิรุธมาเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิเสธสิทธิที่โจทก์มีตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานชอบด้วยกฎหมายแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า หนังสือขอหลักฐานทางการแพทย์ที่จำเลยมีไปถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถีไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา ๔๒ แห่ง พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยมีหน้าที่ที่ใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับบุคคลภายนอก (ผู้ครอบครองเอกสาร) ก่อนแล้วจึงพิจารณาอุทธรณ์เงินทดแทนของโจทก์ เห็นว่า พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔๒ บัญญัติว่า คณะกรรมการ คณะกรรมการการแพทย์และคณะอนุกรรมการ มีอำนาจสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งเอกสาร สิ่งของหรือข้อมูลที่จำเป็นพิจารณาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการสั่งให้ ผู้ที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารมาให้ มิใช่บังคับให้คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องสั่งเรียกเอกสารเสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ในชั้นพิจารณาโดยโจทก์รับว่าโจทก์ได้ยืนยันไม่ยอมส่งประวัติและผลการตรวจของแพทย์หญิงอรพรรณ์ให้แก่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ ๓ จะต้องออกคำสั่งเรียกให้ส่งเอกสารก่อนการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน .

Share