แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะกล่าวหาว่า ท. เป็นผู้ต้องหาในครั้งแรกแต่ ท. ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย คำให้การของ ท. หาใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยแต่อย่างใด ทั้ง ท. ให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังเกิดเหตุเพียงชั่วข้ามคืนและโดยทันทีที่เข้าแจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนทราบ เป็นการยากที่ ท. จะปรุงแต่งเรื่องราวเพื่อปรักปรำจำเลยหรือเพื่อต่อสู้คดีได้ ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญาขู่เข็ญหลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และแม้จะฟังว่า ท. ให้การซัดทอดจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้กระทำผิดด้วยกันก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ตัว ท. มาเบิกความในชั้นศาล ศาลย่อมนำคำให้การของ ท. ในชั้นสอบสวนมาฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้
คำให้การของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนยืนยันรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง และการนำชี้ที่เกิดเหตุก็กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่าไม่มีการล่อลวงหรือขู่เข็ญ คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 335, 371, 376 ฯลฯ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายยอดชาย ห่วงโห้ บุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 335 (7) วรรคสอง, 371, 376 ฯลฯ ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคสอง
จำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 16 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (7) วรรคสอง และมาตรา 376 คงลงโทษ จำคุกจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด
คงจำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 14 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พฤติการณ์แห่งรูปคดีประกอบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังวินิจฉัยมา มีน้ำหนักมั่นคงบ่งชี้ให้รับฟังข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึง แก่ความตาย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำให้การของนายทองคำตามเอกสารหมาย ป.จ.4 (ศาลอาญา) และ ป.จ.8 (ศาลจังหวัดศรีษะเกษ) นั้นเป็นคำให้การของผู้ต้องหาว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นคำซัดทอด จึงใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้นั้น เห็นว่า พฤติการณ์แห่งรูปคดีฟังได้ว่านายทองคำเป็นเพียงคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ไปส่งที่บ้านนายเมืองบิดาจำเลยที่ 2 โดยไม่รู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อนเท่านั้น และการที่นายทองคำต้องขับรถถอยหลังหลบหนีการติดตามของผู้ตาย ก็เพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืน จี้บังคับ ทั้งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใดที่นายทองคำไม่คาดคิดมาก่อน และเมื่อผู้ตายขึ้นบนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุได้ นายทองคำก็จำต้องยอมรับขับรถไปตามที่จำเลยที่ 1 บังคับ แต่เมื่อนายทองคำหลุดพ้นจากอำนาจบังคับของจำเลยที่ 1 แล้วก็ไปแจ้งเรื่องให้นายลุนเจ้าของรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุทราบในเวลากลางคืนของวันเกิดเหตุโดยทันที และวันรุ่งขึ้นก็เข้าแจ้งเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ ร่องรอยที่ปรากฎที่รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุตลอดจนสภาพศพมีลักษณะก็ตรงกับที่นายทองคำให้การ มิได้บิดเบือนหรือเสริมแต่งให้ผิดจากความจริงเพื่อให้ตนพ้นผิด เช่นนี้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะกล่าวหาว่านายทองคำเป็นผู้ต้องหาในครั้งแรก แต่ก็เห็นได้ว่า นายทองคำไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้นคำให้การของนายทองคำตามเอกสารหมาย ป.จ.4 (ศาลอาญา) และ ป.จ.8 (ศาลจังหวัดศรีสะเกษ) จึงรับฟังได้ หาใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีแม้หากจะถือว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนายทองคำเป็นคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ก็ปรากฏว่า นายทองคำให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังเกิดเหตุเพียงชั่วข้ามคืนและโดยทันทีที่เข้าแจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนทราบ เป็นการยากที่นายทองคำจะปรุงแต่งเรื่องราวเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 หรือเพื่อต่อสู้คดีได้ ทั้งเป็นคำให้การ ที่มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และคำให้การชั้นสอบสวนของ ผู้กระทำผิดด้วยกันก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น คำให้การของนายทองคำใน ชั้นสอบสวน ศาลย่อมนำมาฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน