คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อบรรษัท ง. เป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งผู้รับประโยชน์หาต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ไม่ กรณีเช่นนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ซึ่งบรรษัท ง. จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยต่อเมื่อได้แสดงเจตนาว่า จะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่อโจทก์แล้ว ตามมาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์จะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทันที เมื่อบรรษัท ง. มิได้แสดงเจตนาเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อสิทธิของบรรษัท ง. ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยตัวอาคารโรงงานทรัพย์สินภายในอาคาร เครื่องจักรและเครื่องมืออื่น ๆ ของจำเลยซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 150 หมู่ที่ 1 ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในวงเงินประกันภัย34,000,000 บาท โดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อเดือนเมษายน 2541 ได้เกิดลมพายุพัดเป็นเหตุให้หลังคากระเบื้องอาคารโรงงานและทรัพย์สินภายในอาคารของจำเลยที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามสัญญา โจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 216,469บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2541 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2541 โจทก์ตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์จ่ายเงินผิดพลาดเพราะตามสัญญาโจทก์จะต้องจ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมผู้รับประโยชน์จึงทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 230,329 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 216,469 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเอาประกันภัยโรงงานและทรัพย์สินตามฟ้องจริง เมื่อโรงงานและทรัพย์สินเกิดความเสียหาย จำเลยจึงเรียกร้องให้โจทก์รับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์มีหน้าที่ทำการซ่อมแซมทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพเดิม แต่โจทก์ให้จำเลยทำการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเป็นเงิน 216,469 บาท เมื่อจำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ตามเงื่อนไขแล้วจึงไม่เป็นลาภมิควรได้ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่มีสิทธิรับเงินค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 216,469 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 13,860 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยได้ความว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยตัวอาคารโรงงาน ทรัพย์สินภายในอาคาร เครื่องตกแต่งติดตั้ง ตรึงตรา ตลอดจนที่สต็อกสินค้า ถ่านโค๊กวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ของจำเลยในวงเงิน 34,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาประกันภัย 1 ปี เริ่มวันที่ 23 มิถุนายน 2540 เวลา 16 นาฬิกาสิ้นสุดวันที่ 23 มิถุนายน 2541 เวลา 16 นาฬิกา ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2541 เกิดลมพายุเป็นเหตุทำให้หลังคากระเบื้องอาคารโรงงานและทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารของจำเลยเสียหาย ซึ่งได้มีการตรวจสอบความเสียหายกันแล้วในวันที่ 26 มิถุนายน2541 โจทก์จึงจ่ายค่าเสียหายให้จำเลยไปเป็นเงิน 216,469 บาทแต่ภายหลังโจทก์ตรวจพบว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยนั้นได้ระบุให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้

มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 216,469 บาท ที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไว้แล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยในฐานลาภมิควรได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยได้ทำกันไว้นั้น หากไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยกันไว้ ผู้เอาประกันภัยก็คือผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเพื่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่กำหนดไว้นั่นเอง กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 นอกจากจะมีโจทก์ผู้รับประกันภัยและจำเลยผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาประกันภัยแล้ว ยังระบุชื่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย ซึ่งผู้รับประโยชน์ดังกล่าวนี้หาต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ไม่ การที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ไว้เช่นนี้เป็นลักษณะที่โจทก์ผู้รับประกันภัยและจำเลยผู้เอาประกันภัยตกลงกันทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกซึ่งบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมบุคคลภายนอกจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหากเกิดวินาศภัยแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5โดยที่จำเลยผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิจะได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวต่อเมื่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้แสดงเจตนาว่าจะขอเข้ารับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ต่อโจทก์ผู้ต้องรับผิดในมูลหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจะทำให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ทันที ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้แสดงเจตนาต่อโจทก์เพื่อจะเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ก่อนที่โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของอาคารที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมจึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว เมื่อสิทธิของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ยังไม่บริบูรณ์ตามกฎหมายเสียแล้ว จำเลยผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ผู้รับประกันภัย ย่อมเป็นผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากโจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 การที่จำเลยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์จำนวน 216,469 บาท จึงเป็นการได้รับไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังเช่นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยแต่อย่างใด จำเลยไม่จำต้องคืนเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share