คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์กันนั้นผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ฉะนั้น เมื่อจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระราคาให้โจทก์ตามกำหนดจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ได้
ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนแก่โจทก์เป็นเจตนาที่จะเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์ไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์ตลอดมา เมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนโจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่จำเลยไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนโจทก์ ทั้งที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโอเปิล หมายเลขทะเบียน 8ศ-0102 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 1,958,400 บาท ตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ40,800 บาท จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันและจำเลยต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์ทันที แต่จำเลยไม่ยอมคืนทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,917,600 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 370,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 370,000 บาท และต้นเงินจำนวน 1,917,600 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายรถยนต์พิพาทในราคาเงินผ่อน โดยมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วน โจทก์และจำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันตามข้อความในแบบสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องไม่มีผลบังคับ โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อจากจำเลย จำเลยผ่อนชำระราคารถยนต์รวม 4 งวดเหตุที่จำเลยไม่ผ่อนชำระราคาต่อไปเพราะโจทก์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยได้ สัญญาซื้อขายเงินผ่อนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่งวดที่ 5 จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่รับคืนจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนการส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน1,958,400 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน102,465 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 12 เดือนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ยี่ห้อโอเปิลแบบโอเมก้า จากโจทก์จำนวน 1 คัน ในราคา 1,958,400 บาท มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว โดยตกลงผ่อนชำระราคารวม 48 งวด งวดละ 40,800 บาท ตามสัญญาเงื่อนไขราคาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไปจากโจทก์ในวันทำสัญญา ขณะทำสัญญาดังกล่าวบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากบริษัทพระนครยนตรการ จำกัดครั้งต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทจากบริษัทดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทและไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทพระนครยนตรการจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ซื้อขายโดยมีเงื่อนไขจะโอนกรรมสิทธิ์กันนั้นผู้ขายอาจนำทรัพย์สินที่จะมีกรรมสิทธิ์ในอนาคตออกขายล่วงหน้าได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวให้เมื่อจำเลยผ่อนชำระราคาให้แก่โจทก์ครบถ้วน แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระราคาให้โจทก์ตามกำหนดจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญา กรณีจึงต้องบังคับตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เพราะหลังจากจำเลยผ่อนชำระเงินงวดที่ 4 แล้ว จำเลยได้ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้โจทก์ แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมรับคืนนั้น เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทโดยมีเงื่อนไขระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงให้จำเลยเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์ได้การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ โดยมีเจตนาที่จะเลิกสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่มีผลผูกพันให้โจทก์ซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะเลิกสัญญาด้วยนั้นจำต้องรับมอบรถยนต์คันพิพาทคืนจากจำเลยแต่อย่างใด กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองรถยนต์คันพิพาทตลอดมา และการที่จำเลยครอบครองรถยนต์คันพิพาทไว้ใช้ประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาซื้อรถยนต์โดยมีเงื่อนไขตลอดมาเมื่อจำเลยไม่ผ่อนชำระค่างวดตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยต้องส่งมอบรถพิพาทคืนแก่โจทก์และต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นแก่โจทก์ด้วย โดยถือเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่จำเลยไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น นับได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246และ 247”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับราคารถยนต์ที่ต้องใช้แทนในกรณีที่ไม่อาจส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่โจทก์ได้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share