คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226-5227/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะการกระทำผิดและโทษไว้เป็นการเฉพาะ มิได้อาศัยฐานความผิดฐานใดฐานหนึ่งในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด แม้จำเลยมิได้กระทำผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง , 82 ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 91 ตรี ได้
โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้สั่งในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายเลิศหรือกฤษดา สุกันทา ผู้เสียหาย ในสำนวนแรกว่าผู้เสียหายที่ ๑ และเรียกนายสันติ สิบต๊ะ ผู้เสียหายในสำนวนหลังว่าผู้เสียหายที่ ๒
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑ , ๓๔๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔ , ๓๐ , ๘๒ , ๙๑ ตรี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ ๘๐,๐๐๐ บาท และนับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยสำนวนละ ๓ ปี นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกัน ความผิดข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี ได้ต่อเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตราใดมาตราหนึ่งของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ก่อน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาว่า จำเลยมิได้กระทำผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง , ๘๒ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี ได้นั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙๑ ตรี นั้นเป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะการกระทำผิดและโทษไว้เป็นการเฉพาะ มิได้อาศัยฐานความผิดอื่นฐานใดฐานหนึ่งในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ แต่อย่างใด ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา ๙๑ ตรี ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ ๘๐,๐๐๐ บาท ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๙) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในเรื่องนี้ จึงไม่มีอำนาจสั่งคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ ๘๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕.

Share