คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7112/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่า ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 239 (พ.ศ. 2510) ออกตามความใน พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ แม้ว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับที่ 239 ดังกล่าว จะได้ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เมื่อได้มีกฎกระทรวงประกาศกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้วดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ โจทก์หรือบิดาโจทก์จึงหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ และแม้โจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ แต่การได้รับอนุญาตดังกล่าวก็มีผลให้โจทก์หรือบิดาโจทก์เท่านั้นที่มีสิทธิดังกล่าวในที่ดินพิพาทและโจทก์หรือบิดาโจทก์ก็ไม่อาจนำไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวไปให้จำเลยเช่าได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสัญญาเช่า จำเลยได้ให้การไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินพิพาทเป็น ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและการครอบครองของจำเลยมิได้อาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีย่อมมีประเด็นให้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ ๓๑ และออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๘๓ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ห้ามเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๕,๘๐๐ บาท และค่าเสียหายเป็นเงินอีกปีละ ๕,๘๐๐ บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง จนกว่าจะออกไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๘๓ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา ซึ่งเจ้าพนักงานได้ออกให้เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๑ ตั้งอยู่ในเขตป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓๙ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความใน พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ แสดงว่าที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่ง พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้ว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๓๙ (พ.ศ. ๒๕๐๑) จะได้ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเมื่อได้มีกฎกระทรวงประกาศกำหนดให้เป็นเขต ป่าสงวนแห่งชาติแล้วดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์หรือบิดาโจทก์จึงหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ และแม้จะฟังว่าโจทก์หรือบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ แต่การได้รับอนุญาตดังกล่าวก็มีผลให้โจทก์หรือบิดาโจทก์เท่านั้นที่มีสิทธิ ดังกล่าวในที่ดินพิพาท ไม่อาจนำไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ ด้วยเหตุเช่นนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจนำที่ดินดังกล่าวไปให้จำเลยเช่าได้ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามคำฟ้อง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสัญญาเช่า เห็นว่า จำเลยได้ให้การ ไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและการครอบครองของจำเลยมิได้อาศัยสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นก็ได้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นพิพาทไว้ด้วยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นให้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ด้วย
พิพากษายืน .

Share