คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 5 เน้นที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้เงินทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้น ที่มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์มีผลเท่ากับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฯ จำเลยจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จำเลยมีสิทธิให้เช่าให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมของจำเลยได้พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่ครม.กำหนด พระราชบัญญัติ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงบัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย การที่จำเลยกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียว จึงไม่ชอบ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งฯมาตรา 9 วรรค 4 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 แปลง ตั้งอยู่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ต่อมาที่ดินของโจทก์ทั้ง 3 แปลง ถูกเวนคืนโดยจำเลยกำหนดค่าตอบแทนให้เพียง434,320 บาท อันเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ต่ำเกินควรขอศาลบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวน 1,524,878.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี จากจำนวนเงิน 1,232,225 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกอย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเอาแก่จำเลยในอัตราร้อยละ9.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอัตราดอกเบี้ยนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 954,467.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินตามฟ้องทั้ง 3 แปลงของโจทก์ ถูกเวนคืนเป็นของจำเลยและจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์จำนวน 434,320 บาท โดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2525-2527 เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนจากจำเลยเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 บัญญัติว่า”ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉางอำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองพ.ศ. 2525 ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม” จะเห็นได้ว่า กฎหมายดังกล่าวเน้นที่จะให้เกิดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้เงินทดแทนให้โจทก์ตามราคาของทรัพย์สินนั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวการกำหนดราคาจะต้องพิจารณาจากผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการหนึ่ง สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประการหนึ่ง และวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอีกประการหนึ่ง รวม 3 ประการด้วยกัน ตามรายงานการประชุมของจำเลย เอกสารหมาย ล.14 หน้า 9 ถึงหน้า 13 ได้กำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในปี 2522-2524 และในปี 2525-2527 ประการเดียวตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอำเภอเมืองระยองเอกสารหมาย จ.18 ก็ประเมินราคาที่ดินโดยเอาตำบลถนนและทะเลเป็นหลักซึ่งเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ ราคาที่ดินที่ประเมินไว้ ย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป ที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 บัญญัติให้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ซ้ำไว้อีก มีผลเท่ากับบังคับให้มีการพิจารณาสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นแปลง ๆ ไป ทั้งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 6 บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยนั้น เห็นได้อยู่ในตัวว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรา6(3) จำเลยมีสิทธิให้เช่า ให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรม ของจำเลยได้ นอกจากนี้มาตรา 32 และมาตรา 35 ก็บัญญัติให้ประธานกรรมการ พนักงานและลูกจ้างของจำเลยอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นจึงได้บัญญัติให้การกำหนดราคาที่ดินต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเวนคืนด้วย มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้จำเลยแสวงหากำไรจากการกดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืน เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของจำเลย หรือเพื่อผลกำไรจะได้กลับมาสำหรับจ่ายเป็นโบนัสทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม ดังนั้นการที่จำเลยนำเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประการเดียวมากำหนดเป็นราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน ไร่ละ 50,000 บาท โดยพิจารณาถึงรายได้ที่จำเลยได้รับจากการให้เช่าที่ดินของโจทก์ที่ได้ไปจากการเวนคืนไร่ละ 48,000 บาทต่อปี จึงชอบแล้ว เพราะรายได้จากทรัพย์สินกับราคาของทรัพย์สินนั้นย่อมจะต้องสัมพันธ์กัน
ส่วนดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้น นั้นพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 9 วรรค 4 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้มีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปีคงที่ นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงไม่ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่4 ธันวาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 292,653.44 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share