คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องแล้วว่า จำเลยทั้งห้าตกลงร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ แต่ในระหว่างจำเลยทั้งห้าจะตกลงรับผิดอย่างไรไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าสามารถ ให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้โจทก์จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมในขณะที่ทำสัญญากับจำเลยก็เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงแรงซึ่งเป็นคนละเรื่องกันไม่มีผลกระทบสัญญาตามฟ้อง เมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมายไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 240,894.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 240,894.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 206,797.65 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ตุลาคม 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 12,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้น ได้ใช้บริการสถานที่ อาหาร และเครื่องดื่มที่โรงแรมไพน์เฮิร์สท ลอร์ด ของโจทก์เพื่อจัดอบรมสัมมนารวม 5 ครั้ง สองครั้งแรกได้ชำระเงินค่าบริการให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนสามครั้งหลังค่าบริการรวมเป็นเงิน 256,797.65 บาท จำเลยที่ 5 ได้ชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 50,000 บาท คงค้างชำระ 206,797.65 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อแรกว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับโรงแรมไพน์เฮิร์สท ลอร์ด โดยโจทก์เป็นเจ้าของโรงแรมดังกล่าว และที่บรรยายว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ได้ร่วมทำกิจการจัดอบรมสัมมนากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรกันนั้น ก็เป็นการบรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีสองสถานะคือ เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 สถานะหนึ่ง กับอีกสถานะหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมหรือหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยตกลงจะร่วมกันชำระเงินหรือหนี้ที่เกิดจากกิจการที่ทำร่วมกันให้แก่โจทก์ ข้อความดังกล่าวหาได้ขัดกันแต่อย่างใดไม่ และที่ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายคำฟ้องให้ได้ความว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตกลงกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อย่างไรในการร่วมกันชำระเงินให้โจทก์นั้น โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องแล้วว่า จำเลยทั้งห้าตกลงร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ แต่ในระหว่างจำเลยทั้งห้าจะตกลงกันรับผิดอย่างไรไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อตกลงดังกล่าวในระหว่างจำเลยทั้งห้า ประกอบกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์เป็นอย่างดี เพราะสามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมหรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในการติดต่อทำกิจการบริการตามคำฟ้องกับโจทก์ โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องโดยแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมในขณะทำสัญญาตามฟ้อง สัญญาตามฟ้องจึงเป็นโมฆะ และมูลหนี้ตามฟ้องเป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าสำนักโรงแรม เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยกับโจทก์ทำสัญญากันให้โจทก์จัดสถานที่อบรมสัมมนาที่พักพร้อมอาหารเครื่องดื่มให้แก่ฝ่ายจำเลย ซึ่งวัตถุประสงค์แห่งสัญญาดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ ส่วนโจทก์แม้จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงแรมก็เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรงแรม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันไม่มีผลกระทบสัญญาตามฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์.

Share