คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฉะนั้นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกไว้ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 7 ผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 6 ในที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 6ซึ่งเป็นผู้โอน การได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ ดังนี้ คดีนี้จำเลยที่ 7จะอ้างสิทธิใด ๆ ที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ คดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย ดังนี้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของโจทก์ในคดีก่อน โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้และการที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 7 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วใส่ชื่อโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนจะแปลว่าเป็นการขอให้บังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ไม่ได้เช่นกัน ชอบที่ศาลจะยกคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดังกล่าวเสีย คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 ย่อมไม่ถูกต้องศาลฎีกาจึงแก้ไขโดยพิพากษาว่าสำหรับค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 58 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ เมื่อประมาณปี 2528 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5นำที่ดินดังกล่าวของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 โดยโจทก์ไม่ยินยอม โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ซึ่งศาลพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1243/2535 ของศาลชั้นต้น ในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการสมคบกันโดยรู้อยู่แล้วว่ามีการฟ้องร้องกันอยู่เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบไม่สามารถติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ และจำเลยที่ 6 ได้โอนขายที่ดินพิพาทต่อให้จำเลยที่ 7 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการร่วมกันโอนโดยไม่สุจริต ราคาซื้อขายต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นการร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1926(ที่ถูก 2926) ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 6และระหว่างจำเลยที่ 6 กับจำเลยที่ 7 และให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งเจ็ดออกจากสารบบที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 7 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทคืนแก่เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองอุบลราชธานีเพื่อดำเนินการเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนต่อไป หากจำเลยที่ 7 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์ลงในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแทน ห้ามจำเลยที่ 7เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 พร้อมบริวารรื้อบ้านและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งเจ็ดและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากไม่สามารถบังคับตามคำขอทั้งหมดที่กล่าวมาได้ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระราคาแทนเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 7ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1926(ที่ถูก 2926) ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 6และระหว่างจำเลยที่ 6 กับจำเลยที่ 7 และให้โอนให้แก่โจทก์หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 750,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้ขับไล่จำเลยทั้งเจ็ดและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาทคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1รับฟังมาโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านรับฟังยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลขามใหญ่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2529 เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5เป็นผู้ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้วก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533 และศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1243/2535 ของศาลชั้นต้น แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 6 ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 7 และศาลในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าโจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในคดีดังกล่าว คำพิพากษาย่อมไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอกคดีจึงมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาท โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 7 มีว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ และจำเลยที่ 7 มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดแล้วว่าโจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ฉะนั้นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นผู้ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว แม้จะมีการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฉะนั้น การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกไว้ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 เมื่อข้อเท็จจริงศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 7ผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 6 ในที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้โอน
ที่จำเลยที่ 7 อ้างว่าโจทก์จะยกเอาสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามคำวินิจฉัยของศาลขึ้นต่อสู้กับจำเลยที่ 7ที่ได้สิทธิอันเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้นั้น เห็นว่า การได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อศาลฎีกาฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ จำเลยที่ 7 จะอ้างสิทธิใด ๆ ที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของโจทก์ จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้ การขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 7ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วใส่ชื่อโจทก์ลงในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทน จะแปลว่าเป็นการขอให้บังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158 ศาลฎีกาจึงสั่งใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์

Share