คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานในห้องศูนย์บริการลูกค้าขององค์การ ร. ได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างงานจากบริษัท อ. แล้วมิได้ส่งงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบขององค์การ ร. แต่กลับส่งงานที่รับไว้ให้สหกรณ์ ค. อันเป็นหน่วยงานอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับองค์การ ร. และโจทก์มีหุ้นอยู่ในสหกรณ์ ค. ด้วยจึงเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานขององค์การ ร. อย่างร้ายแรง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อองค์การ ร. ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานขององค์การ ร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 85,440 บาท บำเหน็จ 427,200 บาท ค่าจ้างค้าง 9,025 บาท ค่าเช่าบ้าน 10,400 บาท ค่ารักษาพยาบาล 1,500 บาท และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 455,680 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านจำนวน 9,600 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 8,838.62 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1,489 บาท
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จ 427,200 บาท ค่าจ้างค้าง 8,838.62 บาท ค่าเช่าบ้าน 9,600 บาท และค่ารักษาพยาบาล 1,489 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ในห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย ได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างงานจากบริษัทแอสโทรแมกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ประเทศไทย) แล้ว โจทก์มิได้ส่งงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย แต่กลับส่งงานที่รับไว้ให้สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกผู้ถือหุ้น จึงเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานของจำเลยอย่างร้ายแรง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.1 และข้อ 15.6 และตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุ ว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2521 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ข้อ 15 วรรคสาม ระบุ “ห้ามมิให้พนักงานเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามนิติบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าอย่างเดียวกับองค์การ หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ขององค์การ ทั้งนี้ไม่ว่ากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ดังนั้นเมื่อโจทก์กระทำการซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของจำเลยจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15 นี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share