คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8856/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 54 บัญญัติว่า “ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตร และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลักฐาน ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนน…” และมีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2542 ข้อ 103 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “การตรวจสอบการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานตามข้อ 101 หรือข้อ 102 ของผู้มาแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งกับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อพบชื่อและตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยจดเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขบัตรประจำตัวหรือหลักฐาน และสถานที่ออกบัตรหรือหลักฐาน และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาลงในช่องพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งหนึ่งบัตรให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนน พร้อมทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งผู้จ่ายบัตรเลือกตั้งลงลายมือชื่อและบันทึกชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งตรงใต้ช่องพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย” ข้อ 106 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วให้ไปยังคูหาลงคะแนน แล้วทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งหนึ่งเครื่องหมาย และนำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง” ตามบทบัญญัติและระเบียบดังกล่าวกำหนดวิธีปฏิบัติของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไว้เป็นขั้นเป็นตอน นับแต่ตรวจสอบหลักฐานของผู้มาแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิ มอบบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและควบคุมการหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้ง เห็นได้ว่า หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งต้องบันทึกเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขบัตรประจำตัวหรือหลักฐานอื่นใดพร้อมสถานที่ออกบัตรของผู้ไปใช้สิทธิในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ในทางตรงข้ามหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะไม่ปรากฏบันทึกของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้นั้นในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรณีของผู้คัดค้าน ผู้ร้องมีพยานบุคคลเบิกความประกอบเอกสารราชการอันเป็นหลักฐานในเบื้องต้นว่า ผู้คัดค้านมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2543 ผู้คัดค้านนำพยานบุคคลเข้าสืบพิสูจน์ว่าได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ในขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐานของผู้คัดค้าน กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ได้จดเลขประจำตัวประชาชนและไม่ได้ให้ผู้คัดค้านลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขั้นตอนการมอบบัตรเลือกตั้งนอกจากผู้คัดค้านพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งแล้ว ผู้คัดค้านยังได้ลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรด้วย และขั้นตอนการหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้งผู้คัดค้านไม่ได้หย่อนบัตรด้วยตนเองแต่มอบให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน วิธีปฏิบัติของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดังที่ผู้คัดค้านนำสืบล้วนแต่ขัดแย้งกับขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2542 ข้อ 103 และ 106 ทั้งสิ้น เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแสดงข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าตนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2543 และคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนนทบุรีได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควร โดยมีชื่อผู้คัดค้านอยู่ในบัญชีดังกล่าว และผู้คัดค้านมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้คัดค้านจึงเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดอุทัยธานี ได้ประกาศชื่อนายสมศักดิ์ ปานเปรมผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้คัดค้านไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน๒๕๔๓ โดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ผู้คัดค้านจึงมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๓ (๓) ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไปลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ แต่ผู้คัดค้านไม่ได้ลงชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะความเผอเรอของผู้คัดค้านและของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ผู้คัดค้านมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสืบพยานแทนศาลฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนนทบุรีตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาประจำหน่วยเลือกตั้งที่ ๒๘ ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ลำดับที่ ๕๗๕ซึ่งไม่มีการกรอกข้อความตรงช่องหมายเลขบัตร สถานที่ออกบัตร และไม่มีลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้คัดค้าน ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนนทบุรีประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ และไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควรของเขตเลือกตั้งจังหวัดนนทบุรี โดยมีชื่อผู้คัดค้านในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ผู้คัดค้านมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๒ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดอุทัยธานี และผู้ร้องได้ประกาศชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวแล้วมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ หรือไม่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๕๔บัญญัติว่า “ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตร และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลักฐาน ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดแล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนน…” และมีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๑๐๓ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “การตรวจสอบการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานตามข้อ ๑๐๑ หรือข้อ ๑๐๒ ของผู้มาแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งกับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อพบชื่อและตรวจสอบถูกต้องแล้ว ให้อ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชี่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยจดเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขบัตรประจำตัวหรือหลักฐาน และสถานที่ออกบัตรหรือหลักฐาน และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาลงในช่องพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งหนึ่งบัตรให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนน พร้อมทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งผู้จ่ายบัตรเลือกตั้งลงลายมือชื่อและบันทึกชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งตรงใต้ช่องพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย”ข้อ ๑๐๖ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับบัตรเลือกตั้งแล้วให้ไปยังคูหาลงคะแนน แล้วทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งหนึ่งเครื่องหมายและนำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง” ตามบทบัญญัติและระเบียบดังกล่าวกำหนดวิธีปฏิบัติของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไว้เป็นขั้นเป็นตอนนับแต่ตรวจสอบหลักฐานของผู้มาแสดงตนเพื่อขอใช้สิทธิ มอบบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและควบคุมการหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้ง เห็นได้ว่า หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งต้องบันทึกเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขบัตรประจำตัวหรือหลักฐานอื่นใดพร้อมสถานที่ออกบัตรของผู้ไปใช้สิทธิในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยในทางตรงข้ามหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะไม่ปรากฏบันทึกของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้นั้นในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรณีของผู้คัดค้านผู้ร้องมีพยานบุคคลเบิกความประกอบเอกสารราชการอันเป็นหลักฐานในเบื้องต้นว่า ผู้คัดค้านมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านนำพยานบุคคลเข้าสืบพิสูจน์ว่าได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ในขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐานของผู้คัดค้านกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ได้จดเลขประจำตัวประชาชนและไม่ได้ให้ผู้คัดค้านลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขั้นตอนการมอบบัตรเลือกตั้งนอกจากผู้คัดค้านพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งแล้ว ผู้คัดค้านยังได้ลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรด้วย และขั้นตอนการหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรเลือกตั้งผู้คัดค้านไม่ได้หย่อนบัตรด้วยตนเองแต่มอบให้นางสาวชัชราเป็นผู้ดำเนินการแทน วิธีปฏิบัติของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดังที่ผู้คัดค้านนำสืบล้วนแต่ขัดแย้งกับขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๒ข้อ ๑๐๓ และ ๑๐๖ ทั้งสิ้น อันอาจถือได้ว่ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแห่งนี้กระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ ซึ่งหากเป็นดังที่ผู้คัดค้านนำสืบจริง จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำมาใช้ลงคะแนนแล้วหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งจะต้องมีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑ บัตร แต่นางสาวชัชรา พรหมฤทธิ์ พยานผู้คัดค้านเบิกความยืนยันว่า จำนวนบัตรและจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งครบถ้วนถูกต้องตรงกัน ทั้งคำเบิกความของผู้คัดค้านที่กล่าวอ้างว่านางสาวจรัสศรี ใจโปร่ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเผอเรอไม่ลงบันทึกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้าน และไม่ให้ผู้คัดค้านลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน เช่นนี้ ผู้คัดค้านจึงนำสืบแสดงข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าตนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๓เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนนทบุรีได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควร โดยมีชื่อผู้คัดค้านอยู่ในบัญชีดังกล่าว และผู้คัดค้านมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา ๒๒ ผู้คัดค้านจึงเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๓ (๓)
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสมศักดิ์ ปานเปรม ผู้คัดค้าน.

Share