แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือจากโจทก์ครบกำหนดเช่าและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยไม่ยอมออกเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การว่าทำสัญญาเช่าจากโจทก์ด้านทิศใต้และตรงที่เว้นเป็นทางเข้าออกของที่ดินส่วนทางทิศเหนือ ที่ดินส่วนทางทิศเหนือนั้นจำเลยทำสัญญาเช่าจาก บ. ไม่ได้เช่าจากโจทก์ เป็นเรื่องที่คู่ความโต้เถียงกันว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนไหนจากโจทก์ ไม่ใช่เรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญา
ศาลอุทธรณ์จะยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ก็ต่อเมื่ออุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่จะต้องรับไว้พิจารณาเสียก่อน ถ้าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ทั้งฉบับเสียแล้วศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยได้ และแม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฎีกาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5714 ตำบลบางคล้าอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับผู้มีชื่อโจทก์และภรรยาได้ปลูกบ้านอยู่ในส่วนทางทิศใต้ ส่วนทางทิศเหนือจำเลยทำสัญญาเช่าปลูกบ้านจากโจทก์ค่าเช่าปีละ 900 บาท ครบกำหนดแล้วจำเลยมิได้ทำสัญญาเช่าต่อคงเสียค่าเช่าต่อมาอีก 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2517 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นเงิน 2,000 บาท ในปลายเดือนกุมภาพันธ์โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนออกไป จำเลยขอผัดจะออกในเดือนมีนาคม 2518 แต่แล้วก็ไม่ออกไป เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 4,000 บาท ขอให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่ดินโจทก์ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 4,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 666.67 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินส่วนที่เช่าจากโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5714 ร่วมกับนายบุญอนันต์ได้ตกลงแบ่งที่ดินกันเป็นส่วนสัดแล้ว โดยโจทก์ได้ที่ดินส่วนด้านทิศใต้นายบุญอนันต์ได้ที่ดินส่วนด้านทิศเหนือเนื้อที่เท่า ๆ กัน แต่บุคคลทั้งสองยังไม่ได้แบ่งแยกโฉนดกัน ที่ดินที่จำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์คือที่ดินส่วนของโจทก์นอกเหนือจากที่โจทก์ปลูกบ้านและกันไว้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อครบสัญญาเช่าสองครั้งแล้ว ได้ทำสัญญาเช่าครั้งที่สามกันอีก 2 ปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2517 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519 ค่าเช่าเดือนละ 300 บาท สัญญาเช่าครั้งที่สามนี้โจทก์เรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าไป 2,000 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าครั้งที่สามแล้วประมาณ 10 วัน โจทก์ได้ใช้อุบายหลอกลวงจำเลยขอสัญญาเช่าไปดู แล้วปิดกั้นที่ดินส่วนที่เว้นไว้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตรงที่ติดกับที่ดินของนายบุญอนันต์จำเลยขอสัญญาเช่าคืนโจทก์ไม่ยอมให้โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า ไม่มีอำนาจฟ้องแม้จะฟังว่าจำเลยไม่มีสัญญาเช่าที่ดินส่วนทางทิศใต้กับโจทก์ เพราะสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วก็ต้องถือเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลาโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ที่ดินส่วนด้านทิศเหนือซึ่งเป็นของนายบุญอนันต์ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าจากนางสมรเจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้าน และต่อมาได้เช่าจากนายบุญอนันต์จนถึงปัจจุบันนี้ที่ดินส่วนนี้ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ปิดทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเป็นการละเมิดและผิดสัญญาเช่า ทำให้โจทก์ต้องเช่าที่ดินบุคคลอื่นเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2518 เป็นต้นมา จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้เปิดทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและคืนสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2517 ให้จำเลยมีสิทธิตามสัญญาเช่า ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 3,600 บาทและค่าเสียหายเดือนละ 400 บาทนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะงดเว้นการทำละเมิด
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์กับนายบุญอนันต์เจ้าของรวมยังไม่ได้แบ่งที่ดินกันเป็นส่วนสัด ที่โจทก์ปลูกบ้านอยู่ทางทิศใต้นั้นปลูกมาตั้งแต่ครั้งที่ดินเป็นของนางเป้ามารดา โจทก์ไม่เคยตกลงแบ่งที่ให้เป็นทางเข้าออก โจทก์อนุญาตให้จำเลยเดินเข้าออกเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาเช่าเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เช่าที่ดิน จำเลยก็ไม่มีสิทธิอ้างถึงความสะดวกในการเข้าออกและความจริงโจทก์มิได้ปิดกั้น จำเลยปิดประตูแล้วไปแสวงหาทางเดินอื่นเอง จำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าครั้งที่ 3 กับโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน เมื่อจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เคยเป็นคู่สัญญากับจำเลยและยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จำเลยเข้าอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยอยู่ในที่ดินโดยเช่าจากนายบุญอนันต์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จำเลยมีสิทธิอยู่ต่อไปโดยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิปิดทางซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้ไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกัน พิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีมีข้อโต้แย้งเรื่องแปลความหมายแห่งสัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์ว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินทั้งแปลงหรือเช่าเฉพาะที่ว่างในบริเวณบ้านโจทก์ตามแผนที่ท้ายคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์กับนายบุญอนันต์แยกกันครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดไม่ปะปนกัน บ้านเรือนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรื้อถอน ปลูกอยู่ในที่ดินส่วนที่นายบุญอนันต์ครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่ได้ปลูกอยู่ในส่วนของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความฝ่ายใดมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นกล่าวอ้างได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนทางด้านทิศเหนือจากโจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินที่จำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์คือที่ดินส่วนทางด้านทิศใต้ เว้นแต่ที่ดินตรงที่โจทก์ปลูกบ้าน และตรงที่เว้นเป็นทางเข้าออกของที่ดินส่วนทางทิศเหนือที่ดินส่วนทางทิศเหนือจำเลยทำสัญญาเช่าจากนายบุญอนันต์ไม่ได้ทำสัญญาเช่าจากโจทก์จึงเป็นเรื่องที่คู่ความโต้เถียงกันว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินส่วนไหนจากโจทก์ หาใช่เรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่าดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นมาวินิจฉัยเองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์จะยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ก็ต่อเมื่ออุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่จะต้องรับไว้พิจารณาเสียก่อน เมื่ออุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ทั้งฉบับเสียแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัยก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาโจทก์