คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5460/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยตกลงให้นำหนี้เงินกู้จำนวน 80,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทมารวมเป็นหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท ตามสัญญาจำนอง และต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ ตามสัญญาจำนองดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนกับจดทะเบียน ไถ่จำนองตามกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ทำให้หนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงินเป็นอันระงับไป เมื่อหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว ระงับไปโดยผลของการแปลงหนี้ใหม่ มิใช่ระงับไปเพราะการใช้เงิน จำเลยจึงไม่จำต้องนำสืบถึงหลักฐานการใช้เงินกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามมาตรา 653 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยกู้ยืมเงิน 80,000 บาท จากโจทก์ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและชำระต้นเงินคืนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยผิดนัดไม่เคยชำระดอกเบี้ยโดยค้างชำระดอกเบี้ย 23,700 บาทและไม่ชำระต้นเงินคืนตามสัญญา รวมเงินที่ค้างชำระ103,700 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 103,700 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 80,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 80,000 บาท จากโจทก์จริงต่อมาจำเลยกู้เงินจากโจทก์อีก 120,000 บาท และโจทก์จำเลยตกลงให้นำหนี้เงินกู้ยืมครั้งแรก 80,000 บาท มารวบกับหนี้เงินกู้ยืมครั้งที่สอง 120,000 บาท เป็นเงินรวม 200,000 บาทจำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองกับโจทก์เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินทั้งสองครั้งดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 200,000 บาท รวมเป็นเงินกู้ยืม400,000 บาท ต่อมาจำเลยจดทะเบียนไถ่จำนองโดยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน จำเลยขอสัญญากู้ยืมเงิน 80,000 บาท จากโจทก์และโจทก์ไม่คืนให้ โจทก์อ้างว่าสัญญากู้ยืมเงินสูญหายจึงไม่คืนให้จำเลยในวันจดทะเบียนไถ่จำนอง จำเลยไม่เคยค้างชำระดอกเบี้ยโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวซึ่งเป็นวันกู้ยืมเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 80,000 บาทกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์อีก และนำที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ไปจดทะเบียนจำนองโดยระบุว่าเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม 200,000 บาท วันที่ 25 พฤษภาคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์อีก 200,000 บาทโดยให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินด้วย และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองรวมเป็นเงิน 400,000 บาท และจำเลยได้ไถ่จำนองแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยจะต้องชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 80,000 บาท เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ระบุว่าจำเลยได้นำโฉนดที่ดินที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยมอบให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันด้วย และโจทก์เบิกความรับว่า ที่ดินและบ้านดังกล่าวต่อมาจำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1ที่ดินที่จำเลยมอบให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันตามสัญญากู้ยืมเงินก็คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 541 ตามเอกสารหมาย ล.20 นั้นเองซึ่งการยึดโฉนดที่ดินไว้ดังกล่าวแม้จะไม่ก่อให้เกิดบุริมสิทธิที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้เหนือที่ดินก่อนเจ้าหนี้รายอื่นแต่โจทก์ก็ทราบดีว่าการยึดไว้ดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้จำเลยนำที่ดินตามโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองคนอื่นซึ่งอาจทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ การคืนโฉนดที่ดินซึ่งมีเนื้อที่เพียง 1 ไร่เศษเพื่อไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้รายอื่นเชื่อว่าโจทก์จะกระทำเฉพาะกรณีที่จะไม่ทำให้โจทก์เสียประโยชน์อันควรได้รับเท่านั้นและแม้การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวจะเป็นการประกันหนี้รายอื่นอีกจำนวนหนึ่งที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ในภายหลัง แต่เป็นจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบขณะนั้นโจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกจำนวนมากและจำเลยก็ยังค้างชำระดอกเบี้ยโดยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยไปจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 200,000 บาท โจทก์จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยโดยมิได้หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งวันที่จำเลยไถ่จำนองก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแต่ประการใด ที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงิน 200,000 บาทที่จำเลยจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองโดยไม่หักเป็นค่าดอกเบี้ยที่ค้างเพราะจำเลยบอกว่าจำเลยเป็นหนี้รายอื่นอีกจำนวนมากนั้นเห็นว่า โจทก์มอบโฉนดที่ดินที่ยึดไว้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนไปแล้วและยังทราบว่าจำเลยเป็นหนี้รายอื่นมากนั้น ทำให้ความเชื่อมั่นของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ลดน้อยลง ซึ่งโจทก์จะต้องบอกให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระที่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันก่อน แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ข้ออ้างของโจทก์เป็นพิรุธและขาดเหตุผล พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์และรับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงให้นำหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 รวมเป็นหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 200,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1และจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนกับจดทะเบียนไถ่จำนองตามกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349ทำให้หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นอันระงับไป และหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวระงับไปโดยผลของการแปลงหนี้ใหม่ หาใช่ระงับไปเพราะการใช้เงินไม่ จำเลยจึงไม่จำต้องนำสืบถึงหลักฐานการใช้เงินกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามมาตรา 653 วรรคสองดังโจทก์อ้าง เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับไปแล้วจำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share