คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ซ. ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2543 บริษัท ซ. ได้โอนย้ายโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยินยอม โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 2 และโจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยที่โจทก์อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ตามที่มีโอกาสซึ่งหากโจทก์ไม่ยินยอมโจทก์กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในการทำงาน โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและหัวหน้างานกระทำการล่วงเกินทางเพศ ทำให้โจทก์ไม่อาจทนทำงานอยู่ได้จำต้องลาออกจึงฟ้องขอเรียกค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2543 ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับแล้ว ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง อันเป็นข้อห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้จึงต้องลาออก จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 นอกจากเป็นการทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการล่วงเกินทางเพศแก่โจทก์ในระหว่างช่วงวันที่ 16 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2544 และตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศเป็นเงิน 6,210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีได้ความตามคำฟ้องและคำแถลงของโจทก์ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทซีพีจีการ์เมนท์ จำกัด ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2543 บริษัทซีพีจีการ์เมนท์ จำกัด ได้โอนย้ายโจทก์ไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ยินยอม โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อเดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 2 และโจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยที่โจทก์อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เรียกโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ตามที่มีโอกาสซึ่งหากโจทก์ไม่ยินยอมโจทก์กลัวว่าจะได้รับผลกระทบในการทำงาน โจทก์ลาออกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและหัวหน้างานกระทำการล่วงเกินทางเพศ ทำให้โจทก์ไม่อาจทนทำงานอยู่ได้จำต้องลาออกจึงฟ้องขอเรียกค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 6,210,000 บาท ดังนี้เห็นได้ว่า โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ โดยโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2543 ภายหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับแล้ว ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและผู้บังคับบัญชาโจทก์ได้กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง อันเป็นข้อห้ามตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้จึงต้องลาออก จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการล่วงเกินทางเพศของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 นอกจากเป็นการทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมต้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานได้อีกฐานหนึ่ง เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการล่วงเกินทางเพศแก่โจทก์ในระหว่างช่วงวันที่ 16 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2544 และตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง เพราะฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาในประเด็นอื่นต่อไปตามรูปคดี.

Share