แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และ ธ. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 มาโดยทำกำแพงพิพาทเป็นรั้วยาวตลอดแนวเขตเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก เพื่อปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยว ต่อมาเมื่อมีการแบ่งที่ดินออกเป็น 4 แปลง โดยโจทก์ จำเลยที่ 2 และ ธ. เป็นเจ้าของคนละ 1 แปลง แล้ว โจทก์ จำเลยที่ 2 และ ธ. ยังถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกคือโฉนดเลขที่ 117913 ซึ่งอยู่ติดกับแนวกำแพงพิพาท โดยมิได้มีการรื้อถอนกำแพงพิพาทเพราะประสงค์จะใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 และ ธ. ซึ่ง ธ. ได้จดทะเบียนให้ส่วนของ ธ. แก่จำเลยที่ 1 ในเวลาต่อมาเท่านั้น แม้ต่อมาโจทก์จะเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่การที่โจทก์ขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาทบริเวณด้านหน้าของที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ด้วย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ซึ่งเจ้าของรวมทุกคนต้องเห็นชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสุดท้าย มิได้เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 1360 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่ยินยอมให้ที่ดินแปลงอื่นของโจทก์มาใช้ประโยชน์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 117913เนื้อที่ 2 งาน 45 ตารางวา ซึ่งเป็นทางส่วนบุคคลใช้เข้าออกสู่ซอยนนทบุรี 8 อันเป็นทางสาธารณะ โดยมีกำแพงสูงประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเพื่อมิให้บุคคลภายนอกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 117915 ของโจทก์กับที่ดินโฉนดเลขที่ 117914 และ 2103 ของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 โจทก์ได้รับการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ซึ่งเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะและอยู่ติดกับแนวกำแพงดังกล่าว โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองเปิดแนวกำแพงยาวประมาณ2 เมตร เพื่อให้ไปมาระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 117915 กับ 193899 แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางหรือยินยอมให้เปิดทางตามแนวกำแพงยาวประมาณ 2 เมตร ระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 กับ 193899 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกับบริวารขัดขวางโจทก์กับบริวารในการเปิดทางและใช้ทางผ่านไปมาระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 117915 กับ 193899 ของโจทก์ และเข้าออกสู่ทางสาธารณะซอยนนทบุรี 8
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 เป็นที่ดินที่เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 117914, 117915 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 เท่านั้น จึงได้มีการทำกำแพงปิดกั้นโดยมีวัตถุประสงค์มิให้บุคคลอื่นใช้ทางด้วย การที่โจทก์ขอเปิดทางตรงแนวกำแพงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกัน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ของโจทก์ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการใช้ทางของเจ้าของรวม เมื่อจำเลยทั้งสองไม่เห็นชอบด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอเปิดทางตรงแนวกำแพงดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมโจทก์จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ สกุลเจน เป็นเจ้าของรวมในที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 2103 ตำบลบางซื่ออำเภอตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี โดยซื้อมาจากผู้อื่น ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวออกเป็น 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 117915 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เป็นของโจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 117914 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เป็นของจำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ถือกรรมสิทธิ์รวมกันส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 ซึ่งเป็นแปลงคงเหลือเป็นของนายธานินทร์ โดยโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์มีความประสงค์จะใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 เป็นทางส่วนบุคคลเข้าออกสู่ทางสาธารณะซอยนนทบุรี 8 ซึ่งมีกำแพงพิพาทเป็นรั้วสูงประมาณ 3 เมตร ยาวตลอดแนวประมาณ 600 เมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางดังกล่าวเพื่อปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามา หลังจากนั้นนายธานินทร์จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 และที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 เฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 นายอิสระ ว่องธวัชชัย น้องโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ตำบลบางกระสอ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี แก่โจทก์ ซึ่งอยู่ติดกับแนวกำแพงพิพาททางด้านทิศตะวันตก และอยู่ตรงข้ามกับที่ดินโฉนดเลขที่ 117915 ของโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองเปิดแนวกำแพงพิพาทยาวประมาณ 2 เมตร เพื่อใช้เข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาทหรือไม่ เห็นว่า หลังจากโจทก์จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ซื้อที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 2103 มาแล้ว ได้มีการทำกำแพงพิพาทเป็นรั้วยาวตลอดแนวเขตเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก แสดงว่าโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ประสงค์จะปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกและที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 2103 ของบุคคลทั้งสาม ต่อมาเมื่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 2103 ออกเป็น 4 แปลง โดยโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์เป็นเจ้าของคนละ 1 แปลง แล้วโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ยังถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกคือโฉนดเลขที่ 117913 ซึ่งอยู่ติดกับแนวกำแพงพิพาท และใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศเหนือโดยมิได้มีการรื้อถอนกำแพงพิพาทแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ประสงค์จะใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 117913 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศเหนือเพื่อประโยชน์สำหรับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 และนายธานินทร์ซึ่งได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกมาเป็นส่วนสัดเท่านั้น และยังมีความประสงค์เดิมที่จะไม่ให้บุคคลภายนอกและที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกเข้ามายุ่งเกี่ยวและใช้ประโยชน์อีกต่อไป แม้ต่อมาโจทก์จะเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 โดยได้รับการยกให้จากนายอิสระก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองเปิดแนวกำแพงพิพาทบริเวณด้านหน้าของที่ดินดังกล่าวก็เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 193899 ด้วย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ซึ่งเจ้าของรวมทุกคนต้องเห็นชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสุดท้าย มิได้เป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่ยินยอมให้ที่ดินแปลงอื่นของโจทก์มาใช้ประโยชน์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาท ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน