คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง พระเทพปัญญามุนีไม่ใช่ผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดและมีพรรษาอาวุโสสูงสุดของวัดจำเลยที่ 1 จึงต้องทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสคำฟ้องโจทก์ที่ระบุว่าฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รักษาการแทนเจ้าอาวาส จึงเป็นคำฟ้องที่ถูกต้อง ทั้งการฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยโดยมิได้ระบุชื่อผู้แทนของนิติบุคคลมาด้วยหรือระบุชื่อผู้แทนนิติบุคคลผิดตัว ก็ไม่ทำให้กลายเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยผิดตัว
ขณะที่วัดจำเลยที่ 1 บุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อสร้างกุฏิ ศาลาและสิ่งปลูกสร้าง ในเขตอุทยานแห่งชาติ อันไม่ใช่เขตพื้นที่ของวัดจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีส่วนให้ความเห็นชอบหรือเป็นผู้กระทำการดังกล่าว เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของวัดจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรมป่าไม้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534โดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับควบคุม ดูแลทะนุบำรุง และรักษาป่าและป่าไม้ ตลอดจนป้องกันปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าและป่าไม้ทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างเดือนกรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 26 เมษายน2538 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และในฐานะส่วนตัว กับพวกซึ่งเป็นบริวารได้บุกรุกเข้าไปก่นสร้างแผ้วถาง ทำลายป่า รวมพื้นที่ 2 แห่ง ห่างกันประมาณ 500 เมตร ภายในบริเวณป่าท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร รวมเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ แล้วยึดถือครอบครองปลูกสร้างศาลาและกุฏิทั้งที่เป็นการชั่วคราวและกึ่งถาวรรวม 60 หลัง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ป่าในบริเวณดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ความเสียหายทางตรงเป็นเหตุให้พันธุ์ไม้และของป่าเดิมถูกทำลายไป พันธุ์ไม้หรือของป่าใหม่ก็ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตงอกเงยขึ้นแทนที่ได้ทำให้ผลผลิตที่เป็นเนื้อไม้และของป่าต้องสูญหายหรือเสียหายไปคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 40,825.10 บาท ต่อไร่ ส่วนความเสียหายทางอ้อม อันได้แก่ความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นของรัฐก่อให้เกิดการสูญหายของธาตุอาหารในดิน หิน กรวด และทราย ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝนทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นดินโดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ ทำให้ดิน หิน กรวด ทราย และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในดิน หิน กรวดและทรายต้องสูญหายหรือเสียหายไป ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น และทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นมูลค่าแห่งความเสียหายปีละ110,117.60 บาท ต่อไร่ รวมเป็นมูลค่าแห่งความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมปีละ150,942.70 บาท ต่อไร่ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเพียงไร่ละ150,000 บาท รวม 6 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 900,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 900,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 คือ พระเทพปัญญามุนี ฉายาคุณวุฑโฒจำเลยที่ 2 เป็นเพียงพระลูกวัด มาจำวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ไม่มีหน้าที่บริหารกิจการใด ๆจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัดจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินของนิคมสหกรณ์สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากนิคมสหกรณ์สังขละบุรีให้ก่อสร้างวัดแล้ววัดจำเลยที่ 1 ไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยาน วัดจำเลยที่ 1มีกุฎิเพียง 25 หลัง ซึ่งเป็นกุฏิแบบชั่วคราว ทำด้วยไม้ไผ่ สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่มีเสาปักลงดิน และจำเลยทั้งสองไม่เคยตัดฟันต้นไม้จำเลยทั้งสองไม่เคยทำความเสียหายตามที่โจทก์อ้าง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะวัดจำเลยที่ 1 สร้างมากกว่า 2 ปีแล้วผู้แทนโจทก์ก็รู้เห็น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยเป็น กรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ควบคุม ดูแล ทะนุบำรุงป่าและป่าไม้ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าและป่าไม้ทั่วราชอาณาจักร มีนายพยุง นพสุวรรณ เป็นรองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดี ทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาช้างเผือก ป่าเขาบ่อแร่ ป่าเขาพระฤาษีและป่าห้วยเขยงในท้องที่ตำบลไล่โว่ ตำบลหนองลู ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรีและตำบลชะแบ ตำบลปิล๊อก ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ออกใช้บังคับโดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2534 เป็นต้นไป ตามสำเนาพระราชกฤษฎีกาและแผนที่แนบท้ายเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 1 เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538 ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย จ.6 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้ใช้ที่ดินในเขตจัดนิคมสหกรณ์สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ60 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีสร้างวัดดังกล่าวตามสำเนาบันทึกข้อความของกรมส่งเสริมสหกรณ์และหนังสือแจ้งการอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อจัดสร้างวัด จำเลยที่ 1 ของนิคมสหกรณ์สังขละบุรี เอกสารหมาย ล.4 และล.5 ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชกฤษฎีกาเอกสารหมาย จ.1เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม – กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี (ธรรมยุต) มีคำสั่งแต่งตั้งพระเทพปัญญามุนี ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15กรกฎาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.1

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นอันดับแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสซึ่งไม่ถูกต้อง ความจริงพระเทพปัญญามุนีเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้แทนของจำเลยที่ 1ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2539 โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงพระลูกวัดของจำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 คือพระเทพปัญญามุนีซึ่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสตามสำเนาคำสั่งแต่งตั้งของเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม – กาญจนบุรี – สุพรรณบุรี (ธรรมยุต) ลงวันที่17 มีนาคม 2539 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวว่า จำเลยที่ 1 มีพระเทพปัญญามุนีดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส ตามสำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ล.1 และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระเทพปัญญามุนีรักษาการแทนเจ้าอาวาสเมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2540 ก่อนหน้านี้วัดยังไม่มีเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีพรรษาอาวุโสสูงสุดของวัดจำเลยที่ 1 ซึ่งตามธรรมเนียมสงฆ์จะต้องเป็นผู้ดูแลแทนเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อ้างสำเนาคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ซึ่งมีข้อความระบุถึงการแต่งตั้งพระเทพปัญญามุนีรักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2539 เป็นพยาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าพระเทพปัญญามุนีรักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2539 คงฟังได้ตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า พระเทพปัญญามุนีรักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบ ดังนั้น ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้พระเทพปัญญามุนีจึงไม่ใช่ผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีพรรษาอาวุโสสูงสุดของวัดจำเลยที่ 1 จึงต้องทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสคำฟ้องโจทก์ที่ระบุฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รักษาการแทนเจ้าอาวาส จึงเป็นคำฟ้องที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองนำสืบแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกายังมีความเห็นต่อไปอีกว่าการฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยโดยมิได้ระบุชื่อผู้แทนของนิติบุคคลมาด้วยหรือระบุชื่อผู้แทนนิติบุคคลผิดตัว ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยผิดตัว ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกป่าและอุทยานแห่งชาติตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายทวีวงศ์ ดิษสกุล พนักงานป่าไม้ สำนักงานอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นายสำลี ฉิมมังกรทอง ลูกจ้างประจำสำนักงานอุทยานแห่งชาติเขาแหลมและนายสมคิด แก้วไทรหงวน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมซึ่งได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ในที่เกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1ได้สร้างกุฏิและศาลาอยู่ฝั่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลำห้วยลิเจียนอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต รวมประมาณ 60 หลัง และเหนือขึ้นไปประมาณ 500 เมตร อีก 4 หลังรวมเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีจำเลยที่ 2 แสดงตนเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการทำบันทึกแจ้งความและแผนที่สังเขปแสดงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 และถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุไว้ด้วยตามภาพถ่ายหมาย จ.3 (6 ภาพ)ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 และนายสนัด รัตนวิเชียร มาเบิกความยืนยันว่ากุฏิและศาลาปลูกสร้างบนที่ดินในเขตจัดนิคมสหกรณ์สังขละบุรีที่อนุญาตให้วัดจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองใช้ก่อสร้างวัดจำเลยที่ 1 ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งล้ำลำห้วยลิเจียไปทางฝั่งตะวันตกโดยมีกุฏิหลังเล็กปลูกสร้างอยู่ตามแผนผังแสดงบริเวณที่ดินที่ได้รับอนุญาตเอกสารหมายล.2 กับแผนที่และแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามลิเจียเอกสารหมาย ล.3 เห็นว่า ตามแผนที่และแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามลิเจียเอกสารหมาย ล.3 แสดงอาณาเขตบริเวณวัดจำเลยที่ 1 เนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านตะวันออกหรือด้านใต้ของลำห้วยลิเจีย และมีพื้นที่บางส่วนอยู่เหนือลำห้วยลิเจียบริเวณริมลำห้วยเมื่อคำนวณสัดส่วนตามที่ปรากฏในแผนที่ดังกล่าว พื้นที่ส่วนน้อยที่อยู่ทางเหนือหรือทางทิศตะวันตกของห้วยลิเจีย จะมีพื้นที่ที่กว้างไม่เกิน 30 เมตร จากริมฝั่งด้านเหนือของลำห้วยลิเจีย และสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏในแผนที่และแผนผังเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ด้วยหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 7 อยู่ในวงกลม จะปรากฏอยู่ในแผนที่ซึ่งเป็นบริเวณเขตวัดจำเลยที่ 1 ทั้งหมด และถัดจากเขตวัดจำเลยที่ 1 ขึ้นไปทางเหนือจะเป็นแนวชายเขาและภูเขา นายสนัดเบิกความว่า ที่ดินซึ่งอนุญาตให้ใช้มีประมาณ 60 ไร่ และคร่อมบริเวณลำห้วยลิเจียอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังมีหมุดปักอยู่และกุฏิที่ใช้นั่งวิปัสสนาทำด้วยไม้ไผ่ ไม่ได้ฝังลงในดิน สามารถยกเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งมีอยู่ไม่ถึง 60 หลัง ปัจจุบันได้พังไปหมดแล้ว โดยกุฏิดังกล่าวสร้างเมื่อปี 2537 อยู่ชิดกับลำห้วยตรงข้ามวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามคำเบิกความของนายสนัดพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวแสดงถึงข้อเท็จจริงว่า มีการสร้างกุฏิในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตทางด้านทิศเหนือของลำห้วยลิเจียหลายหลังตั้งแต่ปี2537 แต่ปัจจุบันไม่มีเพราะพังหมดแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2ที่เบิกความว่า ภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้าง จ.4 (ที่ถูก จ.3) เป็นสิ่งปลูกสร้างของทางวัด แต่ปัจจุบันกุฏิได้พังไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศาลาหลังใหญ่ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของลำห้วยลิเจียไม่ข้ามลำห้วยไป แต่ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 แสดงข้อเท็จจริงว่าไม่มีกุฏิหรือศาลาของวัดจำเลยที่ 1 ที่ปลูกสร้างนอกพื้นที่ที่ทางวัดจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตศาลาตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ปลูกสร้างอยู่ทางตะวันออกของลำห้วยลิเจีย ส่วนกุฏิตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ได้พังหมดแล้ว แต่พยานโจทก์ทุกปากเบิกความยืนยันว่าได้ขึ้นไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2538 ได้ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.2และถ่ายรูปกุฏิและศาลาไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 นายทวีวงศ์เบิกความยืนยันว่า เมื่อไปถึงบริเวณที่ถูกบุกรุกพบกุฏิ ศาลาเดินจงกรมและห้องน้ำปลูกสร้างอยู่รวม 60 หลัง เดินไปอีกประมาณ 500 เมตร พบสิ่งปลูกสร้างลักษณะเดียวกันอีก 4 หลัง กุฏิและศาลาที่ตรวจพบและถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 (6 ภาพ) ปลูกอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารห่างจากพื้นที่ของนิคมสหกรณ์สังขละบุรีประมาณ 50 เมตร และนายสมคิดเบิกความยืนยันว่า พื้นที่ที่ถูกบุกรุกไม่ได้อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สังขละบุรี แม้นายสมคิดจะเบิกความว่า พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจำเลยที่ 1 อยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำห้วยลิเจียโดยอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามแผนที่และแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามลิเจียเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ว่า เขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจำเลยที่ 1 อยู่คร่อมลำห้วยลิเจียมาทางฝั่งทิศตะวันตกด้วย แต่เนื้อที่ทางฝั่งทิศตะวันตกจะมีความกว้างประมาณไม่เกิน 30 เมตร จากฝั่งลำห้วยลิเจียขึ้นไปดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่นายสมคิดก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า พื้นที่ที่ถูกบุกรุกจุดแรกอยู่ห่างจากลำห้วยประมาณ 50 ถึง 100 เมตร ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างไปอีกประมาณ 500 เมตรสอดคล้องกับคำเบิกความของนายทวีวงศ์และนายสำลีพยานโจทก์ดังกล่าว ทั้งแผนที่สังเขปแสดงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกท้ายเอกสารหมาย จ.2 ก็แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ถูกบุกรุกอยู่ฝั่งทางทิศตะวันตกของลำห้วยลิเจีย แต่มิได้อยู่ติดลำห้วยซึ่งเป็นการรุกล้ำออกนอกเขตพื้นที่ที่รับอนุญาตให้สร้างวัดจำเลยที่ 1 นายทวีวงศ์ นายสำลี และนายสมคิดต่างเป็นข้าราชการซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาป่าและป่าไม้ในเขตท้องที่ที่เกิดเหตุการไปตรวจบริเวณที่เกิดเหตุเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์ทั้งสามมีสาเหตุโกรธเคืองกับพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งในวัดจำเลยที่ 1 หรือมีความเกลียดชังวัดจำเลยที่ 1 เป็นพิเศษ จึงไม่มีสาเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสามจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง ทั้งโดยวิสัยของคนไทยย่อมให้ความเคารพนับถือแก่พระสงฆ์และวัดในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ทั้งยังมีความเชื่อว่าถ้าบุคคลใดไปล่วงเกินพระสงฆ์หรือทรัพย์สมบัติที่เป็นของวัดบุคคลผู้นั้นจะพบแต่ความวิบัติและไม่มีความเจริญรุ่งเรือง จึงไม่มีเหตุผลให้เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวจะเบิกความโดยไม่มีมูลความจริง แผนที่และแผนผังแสดงอาณาเขตของวัดจำเลยที่ 1 และตำแหน่งของกุฏิศาลา รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ปลูกสร้างอยู่ภายในอาณาเขตที่วัดจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาต ตามแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามลิเจียเอกสารหมาย ล.3 จำเลยทั้งสองเพิ่งนำสืบในภายหลังโดยมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปถามค้านพยานโจทก์เพื่อให้พยานโจทก์ได้อธิบายว่า กุฏิ ศาลาหรือสิ่งปลูกสร้างที่อ้างว่าบุกรุกป่าต้นน้ำลำธารได้ปลูกสร้างอยู่ในเขตวัดจำเลยที่ 1 ในแผนที่และแผนผังที่บริเวณป่าสุญญตารามลิเจียเอกสารหมาย ล.3หรือไม่ทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งได้ดูภาพถ่ายหมาย จ.3 แล้ว ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า กุฏิและศาลาตามภาพถ่ายหมาย จ.4 (ที่ถูก จ.3) เป็นสิ่งปลูกสร้างของทางวัด แต่ไม่ทราบว่าอยู่บริเวณใดของแผนที่และแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามเอกสารหมาย ล.3 เพราะจำเลยที่ 2 ดูแผนที่ไม่ออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล จำเลยที่ 2 เป็นพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 มานานประมาณ 6 ถึง 7 ปี ทั้งมีสถานะเป็นพระสงฆ์ที่มีพรรษาอาวุโสสูงสุดที่จะต้องดูแลกิจการของวัดจำเลยที่ 1 แทนเจ้าอาวาสกลับไม่อาจยืนยันถึงสิ่งปลูกสร้างตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ว่าอยู่ในตำแหน่งใดในแผนที่และแผนผังบริเวณวัดป่าสุญญตารามลิเจียตามเอกสารหมาย ล.3 ทั้งที่ในแผนที่นั้นมีแผนผังที่ตั้งของกุฏิและศาลาแต่ละหลังไว้อย่างชัดเจน นับเป็นข้อพิรุธ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการปลูกสร้างกุฏิ ศาลา และสิ่งปลูกสร้างของวัดจำเลยที่ 1 ในบริเวณป่าต้นน้ำลำธารอันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ตามฟ้องจริง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ทำลายป่า อันเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย และทำให้เสื่อมสภาพแก่พันธุ์ไม้ ของป่า ดิน หิน กรวด ทราย แร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์สินของรัฐซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่โจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงมือกระทำการดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า วัดจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2538แต่จำเลยที่ 2 ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งขณะนั้นยังมีสภาพเป็นสำนักสงฆ์ลิเจียและขณะที่มีการเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกป่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2538นายทวีวงศ์และนายสมคิดพยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 แสดงตนเป็นเจ้าอาวาสของวัดจำเลยที่ 1 ทั้งในบันทึกการแจ้งความเอกสารหมาย จ.2 ที่ทำขึ้นในวันเข้าตรวจสอบดังกล่าวก็มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำตรวจสอบ จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า วัดจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และขณะอยู่ที่วัดจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีพรรษาอาวุโสสูงสุด ซึ่งตามธรรมเนียมสงฆ์จะเป็นผู้ดูแลแทน จึงมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าขณะที่การบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อสร้างกุฏิ ศาลาและสิ่งปลูกสร้างของวัดจำเลยที่ 1 ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ อันไม่ใช่เขตพื้นที่ของวัดจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีส่วนให้ความเห็นชอบหรือเป็นผู้กระทำการดังกล่าว เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของวัดจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ยกเว้นค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share