คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นคดีแรงงานอันเป็นคดีแพ่งประเภทหนึ่ง แม้จำเลยจะให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ลักทรัพย์ของจำเลยอันมีมูลความผิดอาญาอยู่ด้วยก็ตาม ก็มิใช่ข้ออ้างที่จะมีผลให้มีการพิจารณาลงโทษโจทก์ในการกระทำผิดอาญา เพียงแต่อ้างเพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดในคดีแรงงานเท่านั้น การให้การต่อสู้เช่นนี้หาทำให้คดีนี้กลับกลายเป็นคดีอาญาไปไม่ การพิจารณาคดีนี้จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ประกอบ ป.วิ.พ. ในกรณีที่มิได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ เป็นอย่างอื่น จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 และ 227 อันเป็นวิธีพิจารณาคดีอาญามาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยวิธีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 นั้น จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 59,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำการทุจริตลักทรัพย์สินในโรงงานของจำเลย อันเป็นการกระทำความผิดอาญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 12 เมษายน 2544 และไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตลอดจนค่าชดเชย ทั้งเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2543 จำเลยตัดค่าจ้างโจทก์เนื่องจากลากิจ ซึ่งเป็นการตัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเงิน 14,934 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 96,367 บาท ค่าเสียหายจำนวน 354,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างจำนวน 38,534 บาท ค่าชดเชยจำนวน 177,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์จำนวน 9,833.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยให้การรับว่าเลิกจ้างโจทก์ แต่ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์กระทำผิดอาญาหรือไม่จึงตกแก่จำเลย โดยจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ฟังข้อเท็จจริงได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น และโจทก์เป็นผู้กระทำผิดอาญานั้น จึงจะลงโทษโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 และ 227 แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยคดีนี้ด้วยการพิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายโดยวิธีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เชื่อว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยนั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้องให้แก่โจทก์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นคดีแรงงานอันเป็นคดีแพ่งประเภทหนึ่ง แม้จำเลยจะให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้ลักทรัพย์ของจำเลยอันมีมูลความผิดอาญาอยู่ด้วยก็ตาม ก็มิใช่ข้ออ้างที่จะมีผลให้มีการพิจารณาลงโทษโจทก์ในการกระทำผิดอาญาเพียงแต่อ้างเพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดในคดีแรงงานเท่านั้น การให้การต่อสู้เช่นนี้ หาทำให้คดีนี้กลับกลายเป็นคดีอาญาไปไม่ การพิจารณาคดีนี้จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีที่มิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เป็นอย่างอื่น จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 และ 227 อันเป็นวิธีพิจารณาคดีอาญามาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยวิธีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 นั้น จึงชอบแล้ว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา119 (1) จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share