คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับในกรณีปกติธรรมดาทั่วไป การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรายของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลอันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และการโอนสิทธิเรียกร้องในรายของจำเลย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนก็ได้มอบอำนาจให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกเช่นกันผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน480,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท โดยกำหนดชำระภายในวันที่ 9 ของทุกเดือนติดต่อกันเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2538 เป็นต้นไป และกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 180 เดือน นับแต่วันทำสัญญา และเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 101,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 1,900 บาท โดยกำหนดชำระภายในวันที่ 31 ของทุกเดือนติดต่อกัน เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2541เป็นต้นไป และกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 120 เดือน นับแต่วันทำสัญญานอกจากนี้จำเลยยังได้ตกลงกับโจทก์ว่า หากจำเลยผิดนัดค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง จำเลยยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงิน และหากภายหลังจากวันทำสัญญาโจทก์ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นหรือต่ำลงประการใดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่และหากจำเลยผิดนัดชำระต้นเงินและหรือดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามกำหนดจำเลยยอมชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีกในอัตราร้อยละ2 ต่อปี จากต้นเงินคงค้างทั้งหมดจนกว่าจะนำต้นเงินในเดือนที่ค้างพร้อมทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับมาชำระให้โจทก์เสร็จ ทั้งนี้ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หากจำเลยไม่ชำระให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่คงค้างทั้งหมด และยอมชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดในขณะผิดนัดนับตั้งแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที จำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไปครบถ้วนแล้ว และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองห้องชุดเลขที่ 234/10 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดทองวดีคอนโดทาวน์ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 128116,128117 ตำบลสวนหลวง อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 480,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยังขาดเงินอยู่จำนวนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้โจทก์จนครบถ้วน และเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำเลยและโจทก์ได้ทำบันทึกขึ้นเงินจำนองเป็นประกันอีกเป็นเงิน 101,000 บาท รวมเป็นวงเงินจำนองทั้งสิ้น 581,000 บาท โดยเงื่อนไขและข้อตกลงอื่นให้เป็นไปตามสัญญาจำนองฉบับเดิมทุกประการหลังจากทำสัญญาจำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โดยนำมาชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2540จำนวน 101,000 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2540 และในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำเลยมียอดหนี้ต้นเงินตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับเป็นเงิน579,530.95 บาท และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่โจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 261,265.26 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 840,796.21 บาท และในการนำหลักทรัพย์มาจำนองเป็นประกันหนี้ จำเลยยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเอาประกันภัยหลักทรัพย์ที่จำนองนั้น โดยจำเลยตกลงเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน หากจำเลยมิได้ชำระค่าเบี้ยประกันและโจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยยอมชำระค่าเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระแทนไปจนกว่าจำเลยจะชำระคืนแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์จำนองและชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยแทนจำเลยไปจำนวน 4 ครั้ง เป็นเงิน2,335.70 บาท แต่จำเลยมิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระคืนแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 843,131.91 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งบอกกล่าวให้ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 843,131.91 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ของต้นเงิน 579,530.95 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,335.70 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การว่า สัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นโมฆะ โจทก์รับจำนองอาคารชุดและคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไม่ถูกต้องและเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ได้ทำสัญญาโอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยโจทก์ได้โอนจำหน่ายลูกหนี้หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดดังกล่าวมีจำเลยรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีนี้เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 7 และในการดำเนินคดีนี้ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 579,530.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง และในอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์เป็นเงิน 2,335.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,335.70 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินดังกล่าวเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดเลขที่ 234/10 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดทองวดีคอนโดทาวน์ ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 128116, 128117 ตำบลสวนหลวง อำเภอประเวศ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วนกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างโจทก์กับผู้ร้องตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ซึ่งในจำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวมีรายของจำเลยซึ่งถูกฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลรวมอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นการซื้อขายคดีความขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 และการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์ ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เป็นพระราชกำหนดที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ โดยจะกระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้และปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวว่า มีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น และต่อมาได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการอนุมัติพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์พ.ศ. 2541 อันเป็นประกาศตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวนั้นแล้ว และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6ก็บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายกฎ หรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ จึงถือได้ว่าพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับในกรณีปกติธรรมดาทั่วไปการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรายของจำเลยที่ถูกโจทก์ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และการโอนสิทธิเรียกร้องในรายของจำเลยนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนก็ได้มอบอำนาจให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับชำระหนี้เดิมเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นอันชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มาตรา 7 คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นนี้ให้”

Share