แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญาแล้วถูกศาลสั่งขายทอดตลาดไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำมาคืนให้โจทก์ได้ จึงยอมใช้เงินเป็นค่าที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินจึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้โดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ค่าที่ดินมาเป็นหนี้สัญญากู้โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต้องผูกพันตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เพื่อไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้และรับเงินจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยในคดีอาญา แล้วถูกศาลสั่งขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินคืนให้โจทก์ไม่ได้ และไม่มีเงินใช้ให้โจทก์จึงทำสัญญากู้โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน การนำสืบดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งโจทก์มีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องหรือต่างกับฟ้องไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองคงค้างชำระต้นเงิน25,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 25,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินและรับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์ที่มีสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1เอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยดังกล่าวหลบหนีไป ศาลชั้นต้นจึงสั่งยึดทรัพย์หลักประกันแล้วทำการขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ไม่ได้ โจทก์ให้จำเลยที่ 1เขียนสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ยึดถือไว้โดยมิได้มอบเงินตามสัญญากู้ให้จำเลยที่ 1 สัญญากู้จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ที่จำเลยชำระเงิน 5,000 บาทให้โจทก์ไปนั้น เป็นหน้าที่โดยศีลธรรมของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน25,400 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน25,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนกว่าจะครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญา แล้วถูกประกาศกระทรวงสั่งขายทอดตลาดไป จำเลยที่ 1ไม่สามารถนำมาคืนให้โจทก์ได้จึงยอมใช้เงินเป็นค่าที่ดินให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินใช้ให้โจทก์ จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้โดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันด้วย กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ค่าที่ดินมาเป็นหนี้สัญญากู้เงินโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ฉะนั้นจำเลยทั้งสองต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันนั้นต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ทั้งนี้โดยผลของการแปลงหนี้นั่นเอง เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้องได้
การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญาแล้วถูกศาลสั่งขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ จำเลยที่ 1ซื้อที่ดินคืนให้โจทก์ไม่ได้และไม่มีเงินใช้ให้โจทก์ จึงทำสัญญากู้โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตัวให้โจทก์ไว้นั้น เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันว่าเป็นมาอย่างไรซึ่งโจทก์ก็มีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องหรือต่างกับฟ้องดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่
พิพากษายืน.