แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (Substantial part) ของเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์ หากจะมีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า ย่อมจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การนำเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีจุดประสงค์ในการหากำไรและมีการจัดทำโสตทัศนวัสดุในรูปแบบบวีซีดีและดีวีดีเพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา นับเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. นี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง “สายชล” โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ทำนองเพลง “สายชล” ดังกล่าว
ส่วนคำขออื่นของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน การเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีออกจากตลาดรวมทั้งการลงประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เห็นว่า แม้งานดนตรีกรรมของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจะถูกนำไปใช้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทั้งการทำให้ปรากฏข้อความว่านางสาว จ. เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายของโจทก์กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้แก่โจทก์แล้ว จึงเห็นควรไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการต่างๆ อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทำนองเพลงของโจทก์รวมทั้งเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ดำเนินการเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีของภาพยนตร์เรื่อง “จี้” ออกจากตลาด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันลงประกาศในหลังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน และเดลินิวส์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอโทษโจทก์ รวมทั้งยอมรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในทำนองเพลง “สายชล” เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตมาตลอดว่าคำร้องและทำนองเพลง “สายชล” เป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาตามฟ้องนั้นสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ทำนองเพลง “สายชล” ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว และในส่วนของทำนองเพลง “สายชล” ตามที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นแม้จะเป็นเพียง 2 ประโยคแรกของเพลงโดยไม่มีดนตรีประกอบ แต่การพิจารณาว่าทำนองเพลง “สายชล” ที่ถูกนำไปใช้นั้นเป็นส่วนสาระสำคัญของเพลงหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากคุณภาพ (Quality) ของงานที่ถูกละเมิดด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาปริมาณ (Quantity) ของงานที่ถูกละเมิด แม้ทำนองเพลง “สายชล” จะถูกนำไปใช้เพียง 2 ประโยค แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบเลยว่า เพลง 2 ประโยคดังกล่าวไม่ใช่เป็นส่วนสาระสำคัญของเพลงหรือมีลำดับดนตรีเป็นทำนองสามัญหรือคล้ายกับเพลงทั่วๆ ไป หรือเมื่อสาธารณชนรับฟังแล้วก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทำนองเพลงอะไร ในทางกลับกันท่อนแรกของเพลงทั่วไปมักจะเป็นส่วนสำคัญของเพลงที่สาธารณชนสามารถจดจำได้ ทั้งเพลงนี้มีชื่อเพลงปรากฏอยู่ในท่อนที่สองของเพลงด้วย ถือว่าเป็นการนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (Substantial part) ของเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์ดังกล่าวแล้วซึ่งหากจะมีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าเช่นนี้ ย่อมจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การนำเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีจุดประสงค์ในการหากำไรและมีการจัดทำโสตทัศนวัสดุในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีเพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา นับเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 แต่อย่างใด ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองทำนองว่าเพลง “สายชล” ที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของภาพยนตร์ก็ดี ไม่มีการนำเพลงประกอบภาพยนตร์ไปรวมบันทึกเพื่อจำหน่ายต่างหากก็ดี ไม่อาจรับฟังได้เพราะไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่ได้วินิจฉัยมากลายเป็นการกระทำที่จะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมามีว่า การทำให้ปรากฏข้อความว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง “สายชล” โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ทำนองเพลง “สายชล” อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ซึ่งโจทก์เองก็ไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงนี้ดังปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เคยมีผู้เข้าใจผิดว่าเพลง “สายชล” มีนางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว การทำให้ปรากฏข้อความว่านางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” จึงไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมามีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย อนึ่ง งานภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างงานภาพยนตร์ต่างมีความประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ แต่การที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างงานภาพยนตร์เรื่อง “จี้” กลับละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นเสียเองเช่นนี้ โดยอ้างว่างานดนตรีกรรมถูกนำไปใช้เป็นเพียงส่วนน้อยของงานภาพยนตร์บ้าง งานดนตรีกรรมดังกล่าวไม่มีชื่อเสียงจึงไม่มีความเสียหายบ้าง และเมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อเยียวยาแก้ไขเช่นใด ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศ อย่างไรก็ดี โจทก์เพียงนำสืบลอยๆ ว่า ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าคำนวณมาเช่นใด แม้โจทก์จะเบิกความตามคำถามค้านและคำถามติงถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำนองเพลง “สายชล” ว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 40,000 บาท แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ประกอบกับทำนองเพลง “สายชล” ถูกนำมาใช้ให้ปรากฏในภาพยนตร์เพียงบางส่วนมิใช่ทั้งหมด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสมควรโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย การสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ส่วนคำขออื่นของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน การเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีออกจากตลาดรวมทั้งการลงประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เห็นว่า แม้งานดนตรีกรรมของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจะถูกนำไปใช้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทั้งการทำให้ปรากฏข้อความว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายของโจทก์กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวตลอดจนค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้แก่โจทก์แล้ว จึงเห็นควรไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการต่างๆ อีก”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2549)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวมเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท