แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การอ้างมูลแห่งการฟ้องร้องที่ต่างกันระหว่างมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลกับมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนนั้นย่อมมีผลต่อรูปคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องหน้าที่นำสืบที่ต่างกัน โดยในมูลที่ฟ้องว่า ผู้ขนส่งปฏิบัติผิดสัญญารับขนนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งมีหน้าที่นำสืบเพียงว่า สินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่ง และเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งจะต้องสืบแก้ว่า ความสูญหายนั้นเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 52 (1) ถึง (13) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ แต่ในการฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนเพราะทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่ง ไม่ได้สูญหายไปแล้วนั้น โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์ยังคงอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งได้ยึดถือทรัพย์ไว้โดยมิชอบ
คดีนี้ลักษณะของการกล่าวอ้างยืนยันตามคำบรรยายฟ้องก็เพื่อที่จะนำสืบพิสูจน์เพียงว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างขนส่งเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างยืนยันเพื่อที่จะนำสืบพิสูจน์ว่าทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งยึดถือไว้โดยไม่ชอบ จึงเป็นเรื่องการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความว่า นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าจนถึงวันฟ้องคดีล่วงเลยอายุความที่จะต้องฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าไปแล้ว และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเรือเข้าเทียบท่าปลายทางตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งควรจะมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในวันดังกล่าวหรือในระยะเวลาไม่ห่างจากเวลาเรือเทียบท่ามากนัก แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 อันเป็นเวลาหลังจากเวลาอันควรส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง 3 ปีเศษ และเป็นเวลาหลังจากที่บริษัท ซ. เรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเพราะสินค้าได้สูญหายไประหว่างเรือขนส่งสินค้าถ่ายลำที่ประเทศสิงคโปร์ถึง 3 ปีเศษแล้วเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1) หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (2) ให้เป็นอันขาดอายุความ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ที่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลดังกล่าวจึงขาดอายุความ 1 ปี ตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจกท์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 513,401.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 3 ปี 23 วัน เป็นดอกเบี้ย 117,941.61 บาท รวมเป็นเงิน 631,342.85 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 513,401.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นเพียงตัวแทนและเป็นผู้ทำเอกสารอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกบริษัทอีสเทอน มารีไทม์ (ประเทศ) จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 ธันวาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลกำหนดให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาขนส่งตามเงื่อนไขในใบตราส่งด้วยการไม่ได้ดูแลสินค้าระหว่างการขนส่งให้ดีเป็นเหตุให้สินค้าสูญหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่โจทก์อ้างว่ารับช่วงสิทธิมาจากบริษัทซีท พัทยา จำกัด นั้น ตามใบรับช่วงสิทธิที่แนบมาท้ายฟ้องอันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการรับช่วงสิทธิเนื่องจากบริษัทซีท พัทยา จำกัด ได้รับเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เนื่องมาจากความสูญหายของสินค้า สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งในการฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาขนส่งไม่ดูแลรักษาสินค้าให้ดีเป็นเหตุให้สินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่งเท่านั้น เพียงแต่ในคำฟ้องโจทก์บางส่วนได้กล่าวสั้นๆ ไว้ด้วยว่าสินค้าอาจยังอยู่ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งคำบรรยายฟ้องในส่วนนี้ยังไม่ชัดแจ้งพอที่จะถือได้ว่าเป็นการบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาที่เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ การอ้างมูลแห่งการฟ้องร้องที่ต่างกันระหว่างมูลตามสัญญารับขนของทางทะเล กับมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนนั้นย่อมมีผลต่อรูปคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องหน้าที่นำสืบที่ต่างกัน โดยในมูลที่ฟ้องว่า ผู้ขนส่งปฏิบัติผิดสัญญารับขนนั้นโจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้ส่งมีหน้าที่นำสืบเพียงว่า สินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งและเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งจะต้องสืบแก้ว่า ความสูญหายนั้นเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 52 (1) ถึง (13) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่ในการฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนเพราะทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่งไม่ได้สูญหายไปแล้วนั้น โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งได้ยึดถือทรัพย์ไว้โดยมิชอบ ซึ่งในคดีนี้ลักษณะของการกล่าวอ้างยืนยันตามคำบรรยายฟ้องก็เพื่อที่จะนำสืบพิสูจน์เพียงว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่งเท่านั้น ไม่ได้กล่าวอ้างยืนยันเพื่อจะนำสืบพิสูจน์ว่าทรัพย์ยังอยู่ที่ผู้ขนส่งโดยผู้ขนส่งยึดถือไว้โดยไม่ชอบ รูปคดีนี้จึงเป็นเรื่องการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย ก็ยิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ว่าประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ร่วมยึดถือทรัพย์ไว้โดยไม่ชอบ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องอายุความว่า นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าจนถึงวันฟ้องคดีล่วงเลยอายุความที่จะต้องฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในความสูญหายของสินค้าไปแล้วและข้อเท็จจริงปรากฏว่า เรือเข้าเทียบท่าปลายทางตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งควรจะมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในวันดังกล่าวหรือในระยะเวลาไม่ห่างจากเวลาเรือเทียบท่ามากนัก แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 อันเป็นเวลาหลังจากเวลาอันควรส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง 3 ปี เศษ และเป็นเวลาหลังจากที่บริษัทซีท พัทยา จำกัด มีหนังสือลงวันที่ 22 กันยายน 2543 เรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเพราะสินค้าได้สูญหายไประหว่างเรือขนส่งสินค้าถ่ายลำที่ประเทศสิงคโปร์ตามหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายถึง 3 ปี เศษ แล้วเช่นกัน ดังนั้นเมื่อตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา 41 (1) หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา 41 (2) ให้เป็นอันขาดอายุความ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ที่ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลดังกล่าวจึงขาดอายุความ 1 ปี ตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น เมื่อฟังได้ว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ