คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ในชั้นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ซึ่งนอกจากระบุว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์แล้ว ยังระบุว่าการที่จำเลยที่ 3 มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานและดำรงตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นไปดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามของจำเลยที่ 3 แต่โจทก์กลับนำไปจดทะเบียนในนามของตนเอง อันเป็นการละเมิดสิทธิโดยชอบของจำเลยที่ 3 ด้วย คำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการแสดงว่า เครื่องหมายการค้ารายนี้ไม่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (2) เพราะต้องห้ามตามมาตรา 8 (9) คือ เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยคำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ข้อนี้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ไว้เช่นกัน ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยประเด็นนี้ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 96 (1) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 170/2549 ให้จำเลยที่ 1 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 510756 ต่อไป หากจำเลยที่ 1 เพิกเฉยขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียน ใช้ หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “ยามเช้า” ตามคำขอเลขที่ 510756 ของโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…คำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ในชั้นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากการระบุว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์แล้ว ยังมีการะบุข้อความเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 3 มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานและดำรงตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 3 ในขณะนั้น ไปดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามของจำเลยที่ 3 แต่โจทก์กลับนำไปขอจดทะเบียนในนามของตนเอง อันเป็นการละเมิดสิทธิโดยชอบของจำเลยที่ 3 ด้วย คำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงว่าเครื่องหมายการค้ารายนี้ไม่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) เพราะต้องห้ามตามมาตรา 8 (9) คือ เครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยคำคัดค้านของจำเลยที่ 3 ข้อนี้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ก็ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ไว้เช่นกัน ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยประเด็นนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัย และผู้อุทธรณ์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าทำให้คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปโดยปราศจากอำนาจ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าส่วนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายอันไม่พึงรับจดทะเบียนให้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) และมาตรา 8 (9) หรือไม่ นั้น เมื่อไม่มีผู้ใดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่วินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์นั้นชอบแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาปัญหานี้ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งศาลให้เป็นพับ

Share