แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมีจำเลยซึ่งเป็นภริยาลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นส่วน ๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ตามมาตรา 291
คดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้กู้ยืมเงิน โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย สามีจำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนกับจำเลยคดีนี้จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาโจทก์กับสามีจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวของโจทก์ระงับสิ้นไปโดยโจทก์ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การที่สามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ร่วมด้วย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยประกอบกับจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงฟ้องให้จำเลยรับผิดไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 นายแหลมทอง ซึ่งเป็นสามีจำเลย ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 460,000 บาท จากโจทก์ และนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว โดยจำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยาน จึงเป็นการให้สัตยาบันในหนี้ของสามีจำเลยและเป็นหนี้ที่สามีจำเลยก่อขึ้นระหว่างสมรส ดังนั้น สามีจำเลยและจำเลยจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 แต่สามีจำเลยไม่เคยชำระเงินกู้ยืมแก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องสามีจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 353/2550 ของศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์และสามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยให้สามีจำเลยชดใช้เงินจำนวน 320,000 บาท ให้แก่โจทก์ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2552 หากสามีจำเลยชำระเงินให้โจทก์ไม่น้อยกว่า 150,000 บาท โจทก์จะคืนใบคู่มือจดทะเบียนรถ เลขทะเบียน 20-0610 ลพบุรี ยี่ห้อ อีซูซุ สีน้ำเงินให้แก่สามีจำเลย และเมื่อสามีจำเลยชำระเงินครบถ้วนโจทก์จะคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 3949 ตำบลสระโบสถ์ อำเภอสระโบสก์ จังหวัดลพบุรี พร้อมใบอนุญาตเส้นทางเดินรถเลขที่ จบ.8140 ให้แก่สามีจำเลย หากสามีจำเลยผิดนัดถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้เต็มตามฟ้อง คือ เงินจำนวน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องคือ วันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โดยหักส่วนที่สามีจำเลยจำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้ว และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 เมื่อเดือนตุลาคม 2551 โจทก์ทราบว่าสามีจำเลยจะขายรถยนต์พร้อมเส้นทางเดินรถที่สามีจำเลยนำคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เลขทะเบียน 20-0610 ลพบุรี มาจำนำโดยไม่บอกโจทก์ โจทก์จึงตรวจสอบพบว่าสามีจำเลยได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้นหายและได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ขนส่งเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนรถยนต์และออกคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เป็น 10-2315 ลพบุรี อันเป็นการทำลายหลักประกัน ซึ่งสามีจำเลยไม่อาจถือประโยชน์จากเงื่อนเวลาการชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันที่ 30 เมษายน 2552 ได้เมื่อโจทก์ทวงถามสามีจำเลยและจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็เพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดในหนี้ร่วมกับสามีจำเลยที่ตกลงกับโจทก์ว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 510,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 460,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้นคดีก่อน จำเลยคดีนี้เป็นภริยาของนายแหลมทอง จำเลยในคดีก่อน จึงถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นในคดีนี้กับคดีก่อนเป็นประเด็นเดียวกัน คือ สัญญากู้ยืมฉบับเดียวกัน และคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาราความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า สามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โดยมีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าว ต่อมาโจทก์ฟ้องสามีจำเลยเรียกเงินตามสัญญากู้เงินดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 353/2550 คดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ในคดีดังกล่าวโจทก์กับสามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าสามีจำเลยกับจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 โจทก์เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือสามีจำเลยคนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือโดยส่วนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้ว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยมีประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยตามสัญญากู้ยืมที่สามีจำเลยและจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วจะเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีนี้แต่จำเลยกับสามีจำเลยก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิกระทำแทนซึ่งกันและกันตามกฎหมาย อันจะเป็นคู่ความเดียวกันได้นั้น เห็นว่า เมื่อสามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวโดยมีจำเลยซึ่งเป็นภริยาลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา และจำเลยรับในคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในฐานะพยานจริง จึงถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นส่วน ๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 คดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยให้ชำระหนี้กู้ยืมเงินตามคดีหมายเลขคดีแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย สามีจำเลยซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนกับจำเลยคดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 98/2551 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นฟ้องซ้ำ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วและเพื่อให้คดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยคดีต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องสามีจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับสามีจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวของโจทก์นั้นระงับสิ้นไปโดยโจทก์ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การที่สามีจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ร่วมด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยประกอบกับจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์และคำพิพากษาตามยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นมาเลย ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
อนึ่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ