คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3053/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จากโจทก์ ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงว่าหลอกลวงให้จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายและฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกมัดจำคืน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินที่โจทก์สร้างอาคารชุดนั้นไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ทั้งยังปรากฏว่าสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด ไม่ได้ประทับตราบริษัทโจทก์ นอกจากนี้พฤติการณ์การก่อสร้างอาคารของโจทก์ยังมีข้อพิรุธอื่น ๆ ที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าโจทก์ฉ้อโกงจำเลย ดังนี้ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตจำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่าจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงนั้นเป็นการโต้ตอบ โจทก์ เนื่องจากโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย ทั้งทวงเงินค่างวดและริบมัดจำด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดจากโจทก์ต่อมาจำเลยโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อนำเอาความเท็จไปฟ้องเป็นคดีอาญาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อโกงจำเลย และฟ้องเป็นคดีแพ่งว่าผิดสัญญา และจำเลยยังไขข่าวแพร่หลายข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่นและสื่อมวลชนทั่วไปเพื่อให้แพร่ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และให้ข่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ว่า จำเลยได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงดังกล่าว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียง รวมเป็นเงิน 211,300 บาท และทำให้ลูกค้าเลิกสัญญาไม่น้อยกว่า 20 ราย งดชำระเงินค่างวดอีกไม่น้อยกว่า40 ราย โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์ 200,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินรวม 425,826 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์จริง แต่โจทก์มิได้ก่อสร้างตามกำหนดในสัญญา โจทก์ทำสัญญามีลักษณะปิดบังอำพราง ไม่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์ไม่ประทับตราสำคัญในสัญญาการที่จำเลยฟ้องโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต การที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวและโทรทัศน์แพร่ภาพก็เป็นเรื่องของหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์นั้น ๆ และการให้ข่าวของจำเลยก็เป็นความจริงที่เกิดขึ้น จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ลูกค้าเลิกสัญญาหรืองดส่งเงินค่างวดเป็นเพราะโจทก์ไม่รักษาคำมั้นที่ให้ไว้กับลูกค้า โจทก์มิได้เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นคงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจากโจทก์ 9 ห้องเป็นเงิน3,720,000 บาท วางมัดจำในวันทำสัญญา 210,000 บาท ที่เหลือชำระเป็นงวดรายเดือน รวม 24 เดือน เดือนละ 90,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2525 ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์กันตามสำเนาภาพถ่ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด เอกสารหมาย จ.6 และตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด เอกสารหมาย ล.1สัญญาดังกล่าวมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ แต่ระบุว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2526 ในวันทำสัญญาโจทก์แจ้งแก่จำเลยว่าจะลงมือก่อสร้างทันที ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2525โจทก์จึงได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารชุด หลังจากได้รับอนุญาตแล้วยังมีการแก้ไขแบบแปลนอีก เมื่อครบกำหนดชำระเงินงวดแรกโจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2525 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ในวันที่ 12 ตุลาคม 2525 จำเลยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาฉ้อโกง ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำฟ้องเอกสารหมาย จ.15 นอกจากนี้จำเลยยังฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2525 เรียกมัดจำคืนตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.18 ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2526ศาลแขวงพระนครใต้ไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแล้ว พิพากษายกฟ้องปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.10 ปัญหามีว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อนำเอาข้อความอันเป็นเท็จไปฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันฉ้อโกงจำเลยและฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกมัดจำคืนทำให้โจทก์เสียหายนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจสำเนาภาพถ่ายคำฟ้องคดีอาญาดังกล่าว เอกสารหมาย จ.15 แล้วปรากฏว่าในคดีดังกล่าวจำเลยฟ้องโจทก์ว่าฉ้อโกงจำเลย โดยหลอกลวงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่จะสร้างห้องชุดทั้งที่ความจริงโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทเพื่อให้สัญญาไม่มีผลผูกพันโจทก์ ส่วนคดีแพ่งนั้นตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.18 จำเลยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับคดีอาญาโจทก์นำสืบคดีนี้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่สร้างห้องชุดจริง โดยซื้อมาจากนายเฉลิมอภัยวงศ์ โจทก์มีหลักฐานสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน เลขที่ 4227 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง ตามสำเนาภายถ่ายโฉนดเอกสารหมาย จ.4 มาแสดงและเอกสารดังกล่าวระบุว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินจากนายเฉลิมจริง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2525จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ จำเลยนำสืบว่าจำเลยเข้าใจว่าถูกโจทก์ฉ้อโกงจึงได้ฟ้องคดีอาญาดังกล่าว โดยจำเลยเบิกความว่าจำเลยให้ทนายไปตรวจสอบเรื่องราวที่กรมที่ดินทนายได้ไปถ่ายภาพโฉนดที่ดินเลขที่ 4227 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนงตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดเอกสาร ล.2 มาให้จำเลย ปรากฏว่าไม่ตรงกับโฉนดที่ดินที่โจทก์จะสร้างอาคารชุด นายภานุวัฒน์ เฉลิมนนทื พยานจำเลย ซึ่งรับราชการประจำสำนักงานที่ดินเขตพระโขนงเบิกความรับรองว่าทนายจำเลยได้ไปขอถ่ายภาพโฉนดตามเอกสารหมาย ล.จริง พยานยืนยันกับทนายจำเลยว่าเลขโฉนดที่ดินอำเภอเดียวกันไม่ซ้ำกัน แต่เมื่อทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารหมาย จ.4 แล้วพยานว่าเลขโฉนดซ้ำกับเอกสารหมาย จ.2 เพราะเดิมที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับอำเภอบางกะปิ ต่อมาเปลี่ยนมาขึ้นอยู่กับอำเภอพระโขนงเลขโฉนดจึงซ้ำกัน อนึ่งศาลได้ตรวจพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.1 คือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับที่อยู่กับจำเลยแล้ว ปรากฏว่าตามสัญญาดังกล่าวระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์เพียงว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 4227 โดยไม่ระบุแขวงหรือเขตไว้เลย จึงเป็นการยากที่จำเลยจะตรวจสอบได้ถูกต้อง ดังนั้น การที่จำเลยให้ทนายไปตรวจสอบแล้วได้หลักฐานที่น่าเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ทั้ง ๆ ที่ใช้ความระมัดระวังแล้ว จึงไม่ใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย น่าเชื่อว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินที่โจทก์สร้างอาคารชุดนั้นไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย ล.1 นั้นไม่ได้ประทับตราบริษัทโจทก์ ที่จำเลยระบุในฟ้องคดีอาญาดังกล่าวว่าเป็นการจงใจไม่ประทับตราสำคัญลงในสัญญาดังกล่าว เพื่อให้สัญญาไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยเข้าใจเช่นนั้นจริง อนึ่งพฤติการณ์การก่อสร้างอาคารของโจทก์ยังมีข้อพิรุธอื่น ๆ ที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าโจทก์ฉ้อโกงจำเลย เช่นโจทก์ลงมือสร้างอาคารล่าช้าซึ่งโจทก์ก็ยอมรับแต่อ้างเหตุผลว่าการก่อสร้างล่าช้าเพราะต้องจ้างบริษัทอื่นตรวจชั้นดินเพื่อคำนวณเสาเข็มและต้องเพิ่มพยานเสาเข็ม และข้อที่โจทก์เพิ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชุด เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2525หลังจากที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดให้จำเลยแล้ว เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยและทวงเงินค่างวดจากจำเลยอีก 180,000 บาทพร้อมกับริบมัดจำตามเอกสารหมาย จ.14 จำเลยจึงฟ้องคดีอาญาดังกล่าวและฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินมัดจำคืนดังได้กล่าวมาแล้วตามพฤติการณ์ต่าง ๆ น่าเชื่อว่า จำเลยใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งโดยสุจริต จำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
สำหรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์โดยให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่าจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกงระบุรายละเอียดเช่นเดียวกับที่จำเลยฟ้องคดีอาญานั้นเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการตอบโต้โจทก์เนื่องจากโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย ทั้งทวงเงินค่างวดและริบมัดจำด้วย ทำให้จำเลยต้องสูญเสียเงินมัดจำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไว้แล้วว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ฉ้อโกงจำเลยเช่นนี้การให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share