แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยรถยนต์บรรทุกซึ่งจำเลยใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิดเป็นของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่ารถยนต์บรรทุกที่ผู้ร้องขอคืนเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลที่ให้ริบรถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้คืนรถยนต์ของกลางด้วยเหตุว่ารถยนต์ของกลางดังกล่าวมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดไม่ได้
การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36นั้น เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่าของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ก็เป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง.
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่นพ.ศ.2482 มาตรา 3, 8, 53, 69 ซึ่งได้แก้ไขแล้วลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 8 ปีของกลางริบ (จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธศาลมีคำสั่งให้แยกฟ้อง)
ผู้ร้องร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น-4270จันทบุรีของกลาง
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลจะพึงริบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาแรกที่ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ริบของกลางรายนี้ชอบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีฝิ่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมฝิ่นจำนวนหนึ่งกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น-4270จันทบุรี และคันหมายเลขทะเบียนน-3519สกลนคร ซึ่งจำเลยทั้งสองใช้เป็นพาหนะในการกระทำความผิดเป็นของกลางจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1ว่ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น-4270จันทบุรี เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา33 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งในเรื่องการริบทรัพย์จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนของกลางรายนี้โดยอ้างเหตุว่ามิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงต้องริบนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต่อไปมีว่าผู้ร้องได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่าการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่าของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ก็เป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องมีพิรุธขัดต่อเหตุผลและแตกต่างกันจนไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.