คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8139/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและเรียกค่าเสียหาย ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและฟ้องแย้งย่อมมีว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอันเป็นประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย นอกจากจำเลยจะไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทแล้ว จำเลยยังมีสิทธิห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและใช้ทางพิพาทได้ด้วย ส่วนข้ออ้างของจำเลยจะรับฟังได้หรือไม่ และจำเลยจะเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้หรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณาฟ้องแย้งเช่นนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมและมิได้มีเงื่อนไขเลยว่าจะถือเป็นฟ้องแย้งต่อเมื่อจำเลยต้องแพ้คดีตามคำฟ้องเสียก่อนแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้กับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 29188 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 203 เมตร โจทก์ได้ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินนานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งจำเลยได้สละที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 จำเลยปลูกต้นไม้และสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นในที่ดินดังกล่าว กว้างประมาณ1.5 เมตร ทำให้ถนนแคบลง ไม่สะดวกในการใช้สอย ขอให้พิพากษาให้ที่ดินดังกล่าว ตกเป็นทางสาธารณะหรือทรัพย์สมบัติของแผ่นดินให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากที่ดินดังกล่าวหากไม่รื้อขอให้โจทก์รื้อถอนเองโดยให้จำเลยเป็นผู้รับผิดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ทางพิพาท อีกทั้งมีทางออกอื่นที่สะดวกกว่า ที่ดินของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นทางสาธารณะ โดยจำเลยได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่บุคคลอื่น และจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่ธนาคาร การที่โจทก์โต้แย้งสิทธิเหนือทางพิพาทของจำเลยเนื่องจากมีเจตนาที่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเป็นการรบกวนการครอบครองของจำเลยโดยปกติสุข จำเลยจึงขอให้สิทธิฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งห้ามโจทก์และบริวารยุ่งเกี่ยวกับทางพิพาทอีกต่อไป และห้ามโจทก์ผ่านเส้นทางพิพาทนับแต่วันจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งนี้ หากโจทก์และบริวารยังคงฝ่าฝืนขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในอัตราวันละ1,000 บาท นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ต่อมาศาลชั้นต้นได้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นไม่รับฟ้องแย้งเนื่องจากเป็นฟ้องแย้งที่ยังไม่เกิดขึ้นขณะฟ้องและมีเงื่อนไข จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและเรียกค่าเสียหาย ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและฟ้องแย้งย่อมมีว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย อันเป็นประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย นอกจากจำเลยจะไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางพิพาทแล้ว จำเลยยังมีสิทธิห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและใช้ทางพิพาทได้ด้วยส่วนข้ออ้างของจำเลยจะรับฟังได้หรือไม่ และจำเลยจะเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นพิจารณา ฟ้องแย้งเช่นนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมและมิได้มีเงื่อนไขเลยว่าจะถือเป็นฟ้องแย้งต่อเมื่อจำเลยต้องแพ้คดีตามคำฟ้องเสียก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share